รถไฟฟ้าสายสีเขียว : กทม.เล็งเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายสูงสุด 158 บาท ‘วิษณุ’ อุบเงียบ ตอบไม่ถูก

วันที่ 15 มกราคม 2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า การเปิดให้บริการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่กรุงเทพมหานครเปิดให้บริการฟรีมาตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2563 ได้มีการพิจารณาแนวทางดำเนินการหลังจากนี้ โดยในวันที่ 16 ม.ค.นี้ กรุงเทพมหานครจะมีการประกาศอัตราค่าโดยสารของส่วนต่อขยาย รวมค่าโดยสารสายหลักทั้งสายสุขุมวิทและสีลม

ขณะนี้ กรุงเทพมหานครยังอยู่ระหว่างศึกษาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม โดยเบื้องต้นประเมินว่าจะมีเพดานราคาสูงสุดอยู่ที่ 158 บาท ซึ่งเป็นการคำนวณมาจากอัตราค่าโดยสารสายสีเขียวหลักที่เก็บสูงสุด 44 บาท และมีการจัดเก็บเพิ่มเติมในเส้นทางส่วนต่อขยาย โดยอัตราค่าโดยสารที่กรุงเทพมหานครจะประกาศครั้งนี้ ซึ่งเป็นการกำหนดอัตราราคาเพิ่มเติมในช่วงส่วนต่อขยายสายใหม่ ทั้งสายเหนือหมอชิต-สะพานใหม่–คูคต และสายใต้ ช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ

“เนื่องจากว่ากำหนดฟรีค่าโดยสารจะสิ้นสุดวันที่ 15 ม.ค.นี้ แต่เนื่องด้วยกฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการเดินรถจะต้องประกาศค่าโดยสารให้ผู้โดยสารทราบและเตรียมตัวก่อน 30 วัน ดังนั้นการที่ กทม.จะประกาศราคาในวันที่ 16 ม.ค.นี้ ก็จะเริ่มมีผลต่อผู้โดยสาร เริ่มจ่ายค่าโดยสารในวันที่ 16 ก.พ.2564” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

กรุงเทพมหานครยอมรับว่า มีความจำเป็นต้องจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราที่สูง เพดานราคา 158 บาท เนื่องจากปัจจุบันการเจรจาจัดทำราคา 65 บาทตลอดสาย ยังไม่ได้ข้อสรุป อีกทั้งกรุงเทพมหานครก็มีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับเอกชนผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายดังกล่าว ซึ่งเป็นภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยยืนยันว่าเพดานราคา 158 บาท แม้จะเป็นราคาที่สูง แต่เมื่อคำนวณต้นทุนทั้งหมดแล้วแล้วพบว่ากรุงเทพมหานครยังขาดทุน

ทั้งนี้ จากสถิติการให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงห้าแยกลาดพร้าว–คูคต จากการเปิดให้บริการตั้งแต่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 125,444 เที่ยวคนต่อวัน ซึ่งในช่วงแรกที่ให้บริการมีผู้โดยสารมากกว่า 150,000 เที่ยวคนต่อวัน แต่จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ผู้โดยสารลดลง ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80,000 เที่ยวคนต่อวัน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เผยว่า ขณะนี้บีทีเอสยังไม่ได้รับแจ้งจากทางกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ ถึงรายละเอียดการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสาย แต่ตามกฎหมายกำหนดว่าเมื่อมีการประกาศค่าโดยสารแล้ว ซึ่งจะต้องใช้เวลา 30 วันจึงจะมีการจัดเก็บค่าโดยสารได้ ก็คาดว่าจะได้รับแจ้งข้อมูลจากทางกรุงเทพมหานครและประกาศให้ประชาชนรับทราบภายใน 16 ม.ค.นี้

“เมื่อมีการประกาศก็ต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะจัดเก็บค่าโดยสารได้ ดังนั้นต้นทุนการเดินทางก็จะยังเพิ่มขึ้นอยู่ ซึ่งปัจจุบันค่าจ้างเดินรถที่บีทีเอสต้องจัดเก็บจากทางกรุงเทพมหานครมีอยู่กว่า 9,000 ล้านบาทแล้ว โดยบีทีเอสต้องแจ้งอัพเดตอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นต้นทุนที่เราก็ต้องแบกรับ”นายสุรพงษ์ กล่าว

ส่วนการปรับเปลี่ยนค่าโดยสารจะต้องใช้เวลาในการปรับระบบตั๋ว 3-4 วัน รวมทั้งที่ผ่านมาเมื่อเปลี่ยนค่าโดยสารบีทีเอสจะใช้เวลาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า 30 วัน ตามข้อกำหนดของสัมปทาน

ขณะที่ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่จะสิ้นสุดโปรโมชั่นขึ้นรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย สถานีหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่ให้ขึ้นฟรีถึงวันที่ 15 มกราคม หรือว่านี้เป็นวันสุดท้าย ว่า เรื่องนี้ไม่รู้และเพิ่งได้ยิน การพูดคุยในวันนี้กับตัวแทนฝ่ายต่างๆ ยังไม่เห็นมีใครพูดเรื่องนี้ วันนี้เป็นการอัพเดตข้อมูล เพราะไม่รู้เรื่อง เนื่องจากห่างไกลจากเรื่องนี้ จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอัพเดตข้อมูล โดยเชิญ กทม. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม สำหรับเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มารับฟังเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวติดขัดที่ตรงไหน ก็ได้รับทราบว่าติดอยู่ที่ตรงไหน

นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวยังเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาไม่ทันภายในสัปดาห์หน้า เพราะมีข้อติดขัดอยู่ ส่วนติดขัดเรื่องอะไร ขออนุญาตยังไม่บอก บอกไม่ได้ ห้ามบอก และได้สอบถามแล้วว่ารออะไรในเวลานี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เพราะเกี่ยวกับเรื่องราคาค่าโดยสารที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ติดขัด และจะต้องมีการชี้แจง