ฝ่าวิกฤตโควิด-19 : ‘สุพัฒนพงษ์’ เยียวยาแค่ 3.5 พัน เหตุการระบาดต่างจากรอบแรก ส.ส.ปชป.จวกเมินธุรกิจท่องเที่ยว

วันที่ 14 มกราคม เมื่อเวลา 11.00 น. ที่กระทรวงมหาดไทย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงถึงความชัดเจนของรัฐบาลในการจ่ายเงินเยียวยา ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19 รายละ 3500 บาท หลังมีกระแสข่าวว่าจะมีการเยียวยาเฉพาะ 28 จังหวัดเสี่ยง ว่า วันนี้จะประชุมกันถึงรายละเอียดการเยียวยา ว่าเป้าหมายจะเป็นคนกลุ่มใด จะเยียวยาในวงเงินเท่าไหร่ วิธีใด ระยะเวลาเท่าไหร่ จังหวัดใดบ้าง ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด โดยต้องลงรายละเอียด ซึ่งนายกฯ ได้ให้ทิศทางกรอบนโยบายไว้ ทั้งนี้รัฐบาลได้มีการมาตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วไม่ใช่เพิ่งมาเตรียมการ เราทำเป็นขั้นตอน หากย้อนดูตั้งแต่ธันวาคม 63 จะเห็นว่ารัฐบาลเตรียมการในหลายเรื่อง เพราะเรารู้ว่าการควบคุมการระบาดโควิดเป็นเรื่องไม่แน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้

เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านออกมาวิจารณ์การเยียวยาในครั้งนี้ว่าใช้งบประมาณน้อยกว่ารอบที่แล้วและดำเนินการเยียวยาเพียง 2 เดือนนั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า โควิด-19 รอบนี้มีความแตกต่างจากรอบแรก โดยรอบนี้ยังไม่ถึงขั้นต้องล็อกดาวน์ ภายในประเทศ เหมือนรอบแรก ซึ่งได้นำประสบการณ์มาใช้ควบคุมตามลำดับจากเบาไปหาหนัก และลดจากหนักไปหาเบาได้อย่างไร รวมถึงภาคประชาชนเองได้เรียนรู้ถึงการป้องกันตัวเองได้ วันนี้รัฐบาลจึงเลือกที่จะไม่ล็อกดาวน์ เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ ชีวิตประจำวันทุกอย่างเกือบจะเป็นปกติ มีเพียงระยะเวลาของร้านอาหารที่ปิดในเวลา 21.00 น.

ฉะนั้นการเยียวยาจำนวนเงินไม่จำเป็น เพราะผู้ได้รับความเดือดร้อนไม่ได้มากเท่ากับรอบแรก แต่เราไม่ได้นิ่งนอนใจเมื่อให้ไปแล้วก็จะมีการติดตามดูความผาสุกความพร้อมของประชาชน และเราจะประคับประคองให้ประเทศไทยผ่านเหตุการณ์นี้ไปให้ได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะจ่ายเงินไปเท่าไหร่ หากสถานภาพการเงินไทยไทยอ่อนแอ ทันทีที่โควิดจบเราจะเติบโตได้ยาก

ส.ส.ปชป.จวกรัฐเมินธุรกิจท่องเที่ยว ไร้มาตรการเยียวยา เหน็บ “เราชนะ” ชี้ทุกคนต้องรอด

น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมาตรการเยียวยารอบสองของรัฐบาลว่า เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องการเยียวยามากขึ้น แต่น่าเสียดายที่การเยียวยายังไม่ครอบคลุมอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ยังไม่ทันได้ฟื้นตัวจากการคลายล็อกรอบแรก ก็ถูกแรงกระแทกอีกครั้ง แต่รัฐยังไร้มาตรการดูแล ทั้งๆ ที่ภาคการท่องเที่ยวได้เสนอแนวทางเยียวยาไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เช่นการให้ภาครัฐร่วมจ่ายค่าจ้างให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยว หรือ โคเพย์ เพื่อพยุงการจ้างงานเอาไว้ ที่สำคัญคือการระบาดรอบนี้ รัฐเลือกที่จะไม่สั่งให้ปิดกิจการ แต่ในความเป็นจริงธุรกิจท่องเที่ยวตายสนิท เดินต่อได้เฉพาะธุรกิจใหญ่ที่สายป่านยาวเท่านั้น ตัวอย่างโรงแรมปิดกิจการด้วยเหตุสุดวิสัยไปแล้วกว่าร้อยละ 40 จึงขอให้รัฐบาลประกาศให้การปิดกิจการด้วยเหตุสุดวิสัย ให้พนักงานไปขอรับเงินประกันสังคมได้ร้อยละ 62 เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งจะช่วยลดภาระทั้งนายจ้างและทำให้ลูกจ้างมีเงินประทังชีวิตสู้วิกฤตโควิดรอบใหม่ ขณะเดียวกันยังรักษาการจ้างงานไว้ได้ด้วย

“การเยียวยาธุรกิจท่องเที่ยวต้องทำทันที เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจนี้อยู่รอด อย่าปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ ต้องประคับประคองถึงวันที่เราคุมการระบาดของโรคได้ จนกว่าการเดินทางท่องเที่ยวของโลกจะเริ่มขี้นได้ ที่เป็นความหวังว่าท่องเที่ยวจะฟื้นตัวอีกครั้ง 1 ปีจากนั้น ที่สำคัญคือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำต้องมีการปรับหลักเกณ์ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาความเสี่ยงของธนาคารมาเป็นหลัก บนข้ออ้างบิดเบี้ยวว่า ถ้าธนาคารล้มประเทศชาติก็ล้มด้วย เพราะในความเป็นจริงถ้าธุรกิจรายเล็กตายหมด ประเทศไทยก็จบเหมือนกัน ในภาวะลำบากนี้ทุกคนควรช่วยกัน อย่าคิดเอาตัวรอดลำพัง เพราะสุดท้ายจะพังทั้งระบบ” น.ส.พิมพ์รพีกล่าว

ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า อยากให้รัฐบาลประเมินสถานการณ์บนความเป็นจริง อย่าหลอกตัวเองด้วยตัวเลขที่สวยหรูเกินจริง โดยเท่าที่ประเมินคิดว่าเม็ดเงินที่เคยได้ 3 ล้านล้านบาท จากการท่องเที่ยวจะหดเหลือร้อยละ 10 หรือประมาณ 3 แสนล้านบาทเท่านั้น จงต้องเร่งตั้งกองทุนช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวทั้งระบบ เร่งหารือกับภาคเอกชนกำหนดแนวทางร่วมกัน นำเงินมาซื้อหุ้นต่อชีวิตให้ธุรกิจโรงแรม ไม่เช่นนั้นเราอาจได้เห็นต่างชาติเข้ามาชื้อธุรกิจท่องเที่ยวไทยในราคาถูก ไม่ต่างจากสถาบันการเงินที่เคยประสบในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง รัฐบาลคิดสโลแกน “เราชนะ” ขึ้นมา ก็ต้องทำให้ทุกคนชนะ ไม่ใช่มีแค่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หรือรัฐบาลอยู่รอดเท่านั้น เพราะเราคือคนไทยทุกคน

“ที่สะท้อนใจที่สุดคือ การกลับคืนมาของโควิดระลอกใหม่นี้เป็นความล้มเหลวของรัฐบาลในการปฎิรูป​ตำรวจตามที่สัญญาไว้กับประชาชน บ่อน แรงงานต่างด้าวผิดกฏหมาย หรือธุรกิจกลางคืน ทำให้คนดีๆ ที่ตั้งใจให้ความร่วมมือ จนประเทศชาติพ้นโควิดในรอบแรกได้ ต้องเดือดร้อนอีกครั้ง รัฐบาล​นี้ต้องรับผิดชอบ คนไทยจึงชนะ” น.ส.พิมพ์รพีกล่าว

เช็กหลักเกณฑ์ ‘เราชนะ’ อาชีพไหนได้-ไม่ได้ เงินเยียวยา

สำหรับโครงการ เราชนะ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะต้องมาลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ที่คลังเปิดไว้คือ www.เราชนะ.com กำหนดระยะเวลาลงทะเบียนเร็วที่สุดภายในสิ้นเดือนม.ค. และผู้ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์จะสามารถกดเงินจากตู้เอทีเอ็มในเดือนแรกได้อย่างช้าสุดไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ.2564 ครอบคลุม 2 เดือน

การคัดกรองผู้ที่ได้รับเงินบรรเทาทุกข์ 3,500 บาท นาน 2 เดือน จากมาตรการ เราชนะ นั้น กลุ่มที่จะได้รับเงินเยียวยาต้องเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ เกษตรกร ที่เคยลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร อาจจะต้องมาลงทะเบียนใหม่ และจะช่วยเหลือพร้อมกันในรอบเดียว

ในหลักการจะช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเหมือนมาตรการเราไม่ทิ้งกันก่อน เช่น ค้าขาย กลุ่มแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้ขับรถส่งอาหาร และมัคคุเทศก์ เป็นต้น

ส่วนกลุ่มที่จะได้รับเงินบรรเทาทุกข์ แบ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ คือ

  • กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน ซึ่งมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว
  • กลุ่มผู้เข้าร่วมมาตรการคนละครึ่ง ที่มีการยืนยันใช้สิทธิ์แล้วกว่า 13.8 ล้านราย หรือไม่เกิน 15 ล้านราย แต่ต้องมาพิจารณาคุณสมบัติว่าจะผ่านเกณฑ์ได้รับเงินบรรเทาทุกข์ด้วยหรือไม่อีกครั้ง
  • กลุ่มต้องลงทะเบียนใหม่ เป็นกลุ่มที่ไม่เคยอยู่ในฐานข้อมูลเดิมอยู่เลย