‘วิโรจน์’ เตือน! ระวังเศรษฐกิจพัง-กระทบแบบงูกินหาง เร่งรัฐ รีบ เยียวยา – ปลดหนี้ ห่วงประชาชนเครียด ‘หนี้นอกระบบ’ บาน

‘วิโรจน์’ เร่งรัฐ รีบ เยียวยา – ปลดหนี้ ห่วงประชาชนเครียด ‘หนี้นอกระบบ’ บาน ส่งผลกระทบทำเศรษฐกิจพังแบบงูกินหาง

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล เขียนบทความ ‘โควิดไม่ได้ส่งผลแค่ที่ปอด แต่ส่งผลถึงปากและท้องของประชาชนด้วย’ โดยเสนอ มาตรการที่ประชาชนต้องการให้ทำอย่างเร่งด่วน หลังจากพบว่ามาตรการเยียวยาของรัฐบาลที่ภายหลังการแถลงของ ครม. เมื่อวันที่ 12 ม.ค.63 ยังไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาได้รอบด้านอย่างแท้จริง เนื้อหาในบทความสามารถสรุปได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1: รัฐบาลสื่อสารไม่ชัดจนประชาชนไม่กล้าไปไหน สุดท้ายกระทบการทำมาหากิน
การจัดการเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แรกเริ่มเหมือนรัฐบาลเดินมาถูกทาง โดยเลือกที่จะบริหารจัดการการระบาดของโรค ที่มีความเข้มงวดที่แตกต่างกันตามสถานการณ์การระบาดของแต่ละพื้นที่ มีการประกาศจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด และจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด และเหมือนพยายามกระจายอำนาจ แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นการผลักความรับผิดชอบให้กับผู้ว่าฯ ซึ่งมีอำนาจเพียงออกคำสั่งปกครองที่แตกต่างกันไป แต่ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจใช้งบประมาณเพื่อเยียวยาปากท้องและการทำมาหากินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปกครองที่ได้สั่งการลงไป

“ที่น่ากังวลที่สุดก็คือ การสื่อสารของรัฐบาลที่ไร้เอกภาพ ประชาชนไม่ทราบเลยว่า แต่ละจังหวัด สถานที่ใดสามารถเปิดให้บริการได้บ้าง เช่น ตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า การเดินทางเข้า-ออก จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 5 จังหวัด ต้องขอเอกสารอะไรและต้องขอที่หน่วยงานใด มีเงื่อนไขใดในการเดินทางเข้า-ออก อย่างไร และสำหรับอีก 28 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เอกสารที่ต้องใช้นั้นมีความแตกต่างอย่างไร มีเงื่อนไขที่แตกต่างจาก 5 จังหวัดสีแดงเข้มอะไรบ้าง และพื้นที่อื่นๆ ที่ระบุว่าให้แต่ละจังหวัดนั้นดำเนินการตามความเหมาะสม นั้นมีรายละเอียดอย่างไร” วิโรจน์ ระบุ

โฆษกพรรคก้าวไกล ยังชี้ว่า เมื่อการสื่อสารไม่มีเอกภาพไม่มีความชัดเจน ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็จะยุติการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังปากท้องของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งที่รัฐบาลมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่สามารถสั่งการได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่แล้ว คำถามก็คือทำไมจึงไม่วางระบบในการสื่อสารกับประชาชนให้มีประสิทธิภาพให้มากกว่านี้ การสื่อสารที่ชัดเจน จึงเป็นโจทย์แรกที่รัฐบาลควรเร่งปรับปรุงอย่างเร่งด่วน เพราะกระทบกับปากท้องของพี่น้องประชาชนจริงๆ

ประเด็นที่ 2: เยียวยาประชาชนให้เร็วที่สุด อย่าให้ซ้ำรอย “เราไม่ทิ้งกัน”
รัฐบาลต้องตระหนัก คำว่า “เยียวยา” คือ การจ่ายเงินช่วยเหลือให้ถึงมือประชาชนให้เร็วที่สุด ในระหว่างที่ประชาชนไม่สามารถทำมาหากินได้เหมือนเดิม บางคนไม่มีรายได้ บางคนรายได้ลดลงอย่างน่าตกใจ แต่ค่าใช้จ่ายในครอบครัวยังเหมือนเดิม ค่ากับข้าวเท่าเดิม ลูกต้องกินนมเหมือนเดิม หนี้ที่มีก็ต้องส่งต้น ส่งดอกเหมือนเดิม รัฐบาลจะทำงานแบบเช้าช้อนเย็นช้อน โดยที่คิดว่าประชาชนไม่มีภาระไม่ได้

“การเยียวยาประชาชนในครั้งนี้ คือ รัฐบาลต้องจ่ายเงินเยียวยาให้ถึงมือประชาชนที่เป็นเป้าหมาย อย่างช้าที่สุดไม่ควรเกินสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ใช่กว่าจะจ่ายได้ต้องให้ประชาชนรอคอยถึง 1-2 เดือน อย่างที่เคยเป็นปัญหามาแล้วในโครงการเราไม่ทิ้งกัน”

ประเด็นที่ 3: ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ตามพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
รัฐบาลควรช่วยลดภาระค่าน้ำ ค่าไฟ ให้กับประชาชน โดยแปรไปตามพื้นที่ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) และอีก 28 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ควรได้รับส่วนลดค่าน้ำ ค่าไฟ ที่เพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อชดเชยกับผลกระทบที่ได้รับมากกว่าในจังหวัดอื่นๆ

ประเด็นที่ 4: เร่งต่อสายป่านให้พ่อค้าแม่ขาย และธุรกิจขนาดย่อม
จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 13 ม.ค. 64 วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน 5 แสนล้าน เอาเข้าจริงๆปล่อยกู้ช่วยเหลือ SMEs ไปได้แค่ 73,848 ราย ใช้วงเงินไปเพียง 123,139 ล้านบาท เท่านั้น สะท้อนว่ามาตรการซอฟท์โลนล้มเหลว ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยได้ รัฐบาลจึงควรใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎร ในการแก้ไข พ.ร.บ.ซอฟท์โลน ซึ่งพรรคก้าวไกลได้ปรับปรุงเนื้อหาสาระและเตรียมที่จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในเร็ววันนี้ เพื่อให้พ่อค้าแม่ขายและผู้ประกอบการรายย่อย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้อย่างแท้จริง โดยเราเสนอให้มีระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ 2 ปี และมีระยะเวลา 5 ปี ในการผ่อนชำระคืน การเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการรายย่อย นั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยเท่านั้น แต่ยังเป็นการพยุงการจ้างงานไม่ให้เกิดปัญหาการเลิกจ้างในวงกว้าง

ประเด็นที่ 5: ลดภาระการผ่อนชำระหนี้ เร่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างเร่งด่วน
จากการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก จนมาถึงการระบาดระลอกใหม่ ต้องยอมรับว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องแบกรับกับปัญหาหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล สาเหตุที่ประชาชนจำเป็นต้องก่อหนี้ก็เพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงที่ขาดรายได้ หรือรายได้ลดลงจากการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม หนี้บ้าน และหนี้รถ ประชาชนต้องแบกรับกับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้น จากการหยุดผ่อนชำระมาระยะหนึ่งจากการระบาดระลอกแรก

“ต้องยอมรับว่าปัญหาหนี้สิน เป็นปัญหาที่ประชาชนเครียดมากที่สุด จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อลดภาระการผ่อนชำระหนี้ให้กับประชาชนลง เช่น การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย ลดค่างวดและขยายเวลาการชำระหนี้ และอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาที่พี่น้องประชาชนได้รับความทุกข์ยากมากที่สุด แต่รัฐบาลยังไม่ได้พูดถึงเลย นั่นก็คือ ‘ปัญหาหนี้นอกระบบ’ ซึ่งเป็นภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ด้านล่าง ประชาชนจำนวนไม่น้อย จำต้องกู้หนี้ยืมสินจากมาเฟียเงินกู้นอกระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะโควิดระลอกแรก ปัจจุบันยังต้องอยู่อย่างหวาดระแวง เนื่องจากไม่มีปัญญาแบกรับดอกเบี้ยในอัตราหฤโหด ครั้นจะไม่จ่าย ก็กลัวว่าจะถูกทำร้ายอย่างอำมหิต มีชีวิตอยู่ก็เหมือนตายทั้งเป็น รัฐบาลควรเร่งออกมาตรการในการปราบปราม และจับกุมมาเฟียเงินกู้นอกระบบอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการให้ธนาคารของรัฐ ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย สามารถนำไปชำระหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง รวมทั้งนำไปใช้จ่ายเพื่อการเลี้ยงชีพตนเอง และครอบครัว ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19”

นายวิโรจน์ ระบุอีกว่า การปลดหนี้ให้กับประชาชน เป็นมาตรการที่สำคัญมาก หากประชาชนต้องแบกภาระหนี้สินอันหนักอึ้งก็จะไม่มีรายได้ในการจับจ่ายใช้สอยและจะกระทบกับการบริโภคภายในประเทศ เมื่อการบริโภคภายในประเทศประสบกับภาวะชะงักงัน ก็จะไม่สามารถดึงดูดการลงทุนใดๆ ได้ พอการลงทุนชะงักงันตาม ก็จะส่งผลต่อการจ้างงาน ซึ่งก็จะก่อปัญหาทางเศรษฐกิจแบบงูกินหางพัวพันอย่างไร้ทางออก