‘หมอเอก-ก้าวไกล’ ชี้จัดหาวัคซีนเอง ไม่ใช่ภาระท้องถิ่น จี้รัฐต้องจัดสรรฟรีให้ทุกคน

วันที่ 13 มกราคม 2564 นายเเพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย เขต1 พรรคก้าวไกลกล่าวแสดงความเห็นผ่านเฟสบุคส่วนตัว เกี่ยวกับกรณีการจัดหาวัคซีนเพื่อยับยั้งการระบาดไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ตลอดช่วงหลายวันที่ผ่านมา ประเด็น “วัคซีนโควิด” เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ที่พูดคุยกันของทุกคนเพราะในหลายประเทศได้ให้การรับรองและเริ่มกระจายฉีดให้กับประชาชนของตนเองแล้ว เพื่อหวังที่จะยับยั้งการระบาดของโคโรน่าไวรัส 2019 ให้เราสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติแบบที่เคยเป็นกันมา เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวโดยเร็วที่สุด ดังนั้น “การบริหารจัดการวัคซีนแบบมีประสิทธิภาพ” จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ในวันที่ทั่วโลกมีความต้องการวัคซีนพร้อมๆ กันและมีการเร่งผลิตวัคซีนออกมาให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก โดยวัคซีนที่ผลิตออกมามีหลายเทคโนโลยีที่ใช้ผลิต มีผลการศึกษาทดลองที่ให้ผลในการป้องกันโควิดที่แตกต่างกันแม้จะมีการให้การรับรองในหลายประเทศแล้ว แต่ก็เป็นการรับรองในกรณีพิเศษ-ฉุกเฉิน เพื่อยับยั้งการระบาดเท่านั้น แต่เรายังไม่ทราบระยะเวลาการคงอยู่ของภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีน รวมทั้งผลข้างเคียงในระยะยาวที่อาจจะพบได้เพิ่มเติมจากที่พบในขั้นตอนการวิจัย

และวัคซีนที่มีหลายชนิดจะมีการแบ่งการจัดซื้อและแบ่งการฉีดอย่างไร ในส่วนวัคซีนของ Sinovac ที่ยังไม่มีการรายงานผลการทดลองในชั้นคลินิกเฟส 3 เลย และล่าสุดมีข่าวว่าบางประเทศไม่พอใจผลของการทดลองวัคซีนนี้เพราะมีประสิทธิภาพเพียง 50.4% เท่านั้น (อ้างอิง https://www.bbc.com/news/world-latin-america-55642648 ) แต่จะมีการนำเข้ามาใช้ในเดือนกุมภาพันธ์แล้ว เราจะมีระบบการอนุมัติแบบพิเศษจาก อย. อย่างไร? ประเด็นนี้ทางรัฐบาลไทยจะต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดอย่างชัดเจนเพื่อให้สาธารณชนได้วางใจได้ ซึ่งที่ผ่านมาถือว่ารัฐบาลสอบตกในประเด็นนี้

เอกภพ ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่มีข่าวอง์การปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งเปิดเผยว่าสนใจจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้กับคนในพื้นที่ได้นั้น ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องดีและอยู่ในวิสัยของกรอบระเบียบกฎหมายที่จะทำได้ แต่มีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงอยู่บ้าง คือการจัดซื้อวัคซีนแบบแยกซื้อย่อมจะส่งผลต่อราคาวัคซีนที่จะแพงกว่าการจัดซื้อรวม ในขณะที่วัคซีนชนิดอื่นรัฐได้รวบการจัดซื้อโดยข้ออ้างในเรื่องราคา แล้วทำไมวัคซีนโควิดถึงไม่ได้มีการพูดถึงเหตุผลข้อนี้ (และการจัดซื้อโดย อปท. ที่มีความพร้อมด้านงบประมาณนั้นแน่นอนว่าจะไม่ได้มีทุก อปท. ที่มีความพร้อม จะส่งผลต่อการวางแผนการกระจายของวัคซีนในภาวะที่ต้องการวัคซีนเพื่อหยุดการระบาด ไม่ได้ต้องการวัคซีนเพื่อป้องกันโรคเท่านั้น)

โดยรัฐบาลควรต้องตั้งเป้าหมายการจัดหาและฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบ 100% โดยไม่ปล่อยให้เป็นภาระขององค์การปกคริงส่วนท้องถิ่นในการจัดหา โดยมีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งการระบาดในวงกว้าง และป้องกันปัจเจกบุคคลจากการติดเชื้อ โดยยุทธศาสตร์ที่ทางรัฐบาลและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศควรทำงานร่วมกัน คือ 1.ให้ผู้จัดหาวัคซีนยังคงเป็นรัฐบาลอยู่ แต่ต้องกระจายความเสี่ยงของวัคซีนให้มีหลายเจ้ามากขึ้น และมุ่งเน้นเจ้าที่มีประสิทธิภาพสูง และจะต้องมีจำนวนโดสครอบคลุมการฉีดให้ประชากรทั้งประเทศ 100%

2.ส่วนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจะเข้ามามีบทบาทร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ผ่านทางโรงพยาบาลและ รพ.สต. ในการกระจายฉีดวัคซีนให้ประชาชน เนื่องจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีความใกล้ชิดประชาชนมากกว่า เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ที่อาจจะต้องได้รับวัคซีนก่อนในลำดับแรกๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อมูลของกลุ่มนี้อยู่แล้ว

3.สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ คือ “ความโปร่งใส” ในการบริหารจัดการ ดังนั้นรัฐบาลต้องเปิดเผยรายละเอียด ตัวเลข หลักเกณฑ์ วิธีการ และเหตุผลในการดำเนินการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน ให้ไว้วางใจการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนคนไทยกลับมาใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยได้ตามปกติอีกครั้งโดยเร็วที่สุด. เอกภพ กล่าว.