‘อนุทิน’ หนุน อปท.ซื้อวัคซีนให้ ปชช. – ทน.รังสิต พร้อมทุ่มซื้อ90ล. – 2บ.ยื่น อย. แล้วขออนุมัติใช้ในไทย

‘อนุทิน’ หนุน อปท.ซื้อวัคซีนฉีดให้ชาวบ้าน เทศบาลรังสิตพร้อมทุ่มเงิน 90 ล้านจัดซื้อ 2 บริษัทยื่นอย.ขออนุมัติวัคซีนใช้ในไทยแล้ว

เมื่อวันที่ 13 มกราคม แม้หลายประเทศจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19ไปแล้ว แต่ในส่วนของประเทศไทยจะมีการจัดซื้อวัคซีนลอตแรกเข้ามาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์กว่า 2 ล้านโดน จะมีการฉีดให้ 4กลุ่มแรกที่มีความเสี่ยง และล่าสุดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอที่จะนำเงินรายได้ท้องถิ่นมาซื้อวัคซีนให้ประชาชน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์วันที่ 12 มกราคมว่า รัฐบาลมีมาตรการที่จะนำวัคซีนมาบริการกับประชาชนโดยทั่วไปอยู่แล้ว ถ้าท้องถิ่นมีงบประมาณและต้องการดูแลประชาชน สิ่งที่ใช้ก็ต้องเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียน โดยผ่านการอนุมัติจากกระทรวง ถือว่าเป็นเรื่องดีหากท้องถิ่นมีความจำนง ที่ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล โดยงบประมาณรัฐบาล ต้องนำรายชื่อมาตรวจคัดกรองกัน เพราะฉีดซ้ำไม่ได้อยู่แล้วเป็นการช่วยกันคนละไม้ละมือ อย่างไรก็ตาม เป็นการพูดถึงหลักการทั่วไปก่อนยังไม่ได้ลงรายละเอียด ถือว่าเป็นเรื่องร่วมกันทำงาน เพราะถึงอย่างไรก็เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดิน อยู่ที่ว่าจะเอามาจากกระเป๋าใบไหนเท่านั้น ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแล้วเห็นว่า วัคซีนต่างประเทศทุกยี่ห้อไม่มีปัญหา และสามารถมาขอขึ้นทะเบียนจากทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยได้ และโดยหลักการเราเปิดกว้างเพียงขอให้ปลอดภัย หากบริษัทจะมาขึ้นทะเบียนกับ อย.ไว้ก่อน เพื่อให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำมาฉีดให้กับคนที่มีฐานะหรือฉีดได้

สทท.ขอรัฐจ่ายคนละครึ่ง
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ต้องการให้ภาครัฐเร่งรัดในการกระตุ้นให้นำวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เข้ามาฉีดให้กับประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดก่อน อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ ประชาชนในพื้นที่สีแดง โดยเฉพาะผู้ประกอบการและแรงงานในภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากถือเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง ในการเป็นด่านหน้า ต้อนรับและให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย โดยจากการหารือร่วมกับผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวด้วยกัน พบว่า หลายคนมีความพร้อมและยินดีมากที่นำเงินส่วนของภาคเอกชน มาจ่ายคนละครึ่งกับรัฐบาล ในการนำวัคซีนต้านไวรัสเข้ามาฉีดให้กับผู้ประกอบการและแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวก่อน เพื่อช่วยฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับมาอีกครั้ง ลดความเสี่ยงในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น
“ภาคธุรกิจไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลมาช่วยเหลือเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องการทำงานร่วมกับรัฐบาลด้วย จึงมองว่าแนวคิดการจ่ายคนละครึ่งในการนำวัคซีนต้านไวรัสเข้ามาฉีดให้ภาคการท่องเที่ยวก่อน จะเป็นการฟื้นความเชื่อมั่น และสร้างแรงกระเพื่อมในการเดินทางมากขึ้นได้ เพราะต้องยอมรับว่า ธุรกิจท่องเที่ยวไม่มีรายรับเข้ามาเลยในขณะนี้ ถูกกระทบตั้งแต่การระบาดรอบแรก จนถึงการระบาดรอบปัจจุบันที่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น” นายชำนาญกล่าว

2บ.ยื่นขออนุมัติวัคซีนอย.แล้ว
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า เหตุใดวัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานด้านอาหาร และยาของต่างประเทศยังต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทยอีก ขอชี้แจงว่าการที่ต้องมาขึ้นทะเบียนที่ อย.อีกครั้ง เพื่อให้ทราบว่าผู้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีนโควิด-19 คือใคร และสามารถติดตามตรวจสอบได้หากวัคซีนนั้นมีปัญหาเชิงคุณภาพหรือความปลอดภัย ผู้รับอนุญาตนำเข้าต้องรับผิดชอบต่อวัคซีนของตน เนื่องจากวัคซีนอาจเกิดผลข้างเคียงหลังจากการฉีดได้ ดังนั้น ในการขึ้นทะเบียนจึงกำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องนำเสนอข้อมูลความปลอดภัย แผนการใช้ และการแก้ปัญหาเมื่อเกิดผลข้างเคียงใดๆ ขึ้น โดยต้องมีเอกสารชี้แจงรายละเอียดมายืนยันพร้อมการขึ้นทะเบียนกับ อย.

“ปัจจุบันมีบริษัทมายื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 กับ อย.จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาประเมินข้อมูล คาดว่าจะสามารถอนุมัติทะเบียนได้เร็วๆ นี้ และวัคซีนของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค โดยมีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้รับอนุญาตในการขึ้นทะเบียน จึงขอเชิญบริษัทที่สนใจมายื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 อย.พร้อมอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนอย่างเต็มที่” นพ.ไพศาล กล่าว และว่า กรณีโรงพยาบาลเอกชนสามารถซื้อวัคซีนที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. จากผู้รับอนุญาต หรือมาขอเป็นผู้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนวัคซีนเองได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าวัคซีนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. มีความปลอดภัย มีคุณภาพ มีประสิทธิผลป้องกันโรค และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

ทน.รังสิตทุ่ม90ล.ซื้อวัคซีน
นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต จ.ปทุมธานี ได้ไลฟ์สดกล่าวกับประชาชนว่า เตรียมใช้งบประมาณจากเงินสะสมของเทศบาลเพื่อจัดซื้อวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ให้ประชาชนในเขตเทศบาลนครรังสิตทุกหลังคาเรือน คนละ 2 โดส (ราคา 1,000 บาท/คน) คาดว่าใช้งบประมาณ 90 ล้านบาท

ครม.เคาะ5.8พันล.รับมือ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบจากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขอให้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องสถานพยานบาลให้มีศักยภาพในการรักษาพยาบาล รวมถึงการควบคุม ป้องกัน และฟื้นฟูประชาชนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นการเตรียมความพร้อมค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการจัดการทรัพยากรในการบำบัด รักษา และควบคุมโรคของหน่วยงานใน สธ. ให้พร้อมในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่ง ครม.เห็นชอบในกรอบวงเงิน 5,816 ล้านบาทเศษ นอกจากนี้ ยังต้องมีเงินเพิ่มเติมที่จะเป็นการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อเฝ้าระวัง กำกับ และควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกรอบวงเงิน 429 ล้านบาทเศษ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขขอรับการจัดสรรแหล่งเงินเพื่อเป็นการดำเนินการจากแหล่งเงินอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเงินกู้ นอกจากนี้ อนุมัติงบประมาณตามที่กระทรวงกลาโหมได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย ครม.ได้อนุมัติงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 473,150,000 บาท โดยจะใช้หลักๆ คือ สถานที่กักตัวของรัฐ ซึ่งจะครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าบุคลากร ค่าเช่าที่ การแพทย์ และค่ายานพาหนะ