คุณหญิงกัลยา เปิดยุทธศาสตร์เชิงรุกปี 64 หนุนโค้ดดิ้งเพื่อประชาชน พร้อมหลักสูตรในวิกฤติโควิค-19 รองรับผู้ตกงาน

คุณหญิงกัลยา เปิดยุทธศาสตร์เชิงรุกปี 64 หนุนโค้ดดิ้งเพื่อประชาชน พร้อมหลักสูตรในวิกฤติโควิค-19 รองรับผู้ตกงาน

ดร.คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้รับมอบหมายจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) แห่งชาติ ครั้งที่ 2 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และเป็นการประชุมทางไกลผ่านโปรแกรม Zoom

คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการทำงานของคณะอนุกรรมการ 3 คณะ (จาก 6 คณะ) คือ 1) คณะอนุกรรมการอำนวยการพัฒนาขีดความสามารถ ทักษะและการเรียน Coding 2) คณะอนุกรรมการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูล สร้างความตระหนักและการรับรู้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ ทักษะ และการเรียน Coding 3) คณะอนุกรรมการประสานงานร่วมภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งได้ดำเนินงานมีความก้าวหน้าพร้อมที่จะขับเคลื่อนและผลักดันการเรียนการสอน Coding ให้เป็นไปในทิศทางที่นำไปสู่การคิดวิเคราะห์และสร้างทักษะ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีเหตุมีผล คิดเป็นขั้นเป็นตอน เเก้ปัญหาเป็น เเก้ปัญหาชอบ ในการเตรียมคนในศตวรรษที่ 21 อย่างรู้เท่าทันดิจิทัล
ที่ประชุมยังได้หารือในการเตรียมจัดทำ “หลักสูตรโค้ดดิ้ง” สำหรับประชาชนทั่วไป โดยจะเริ่มจัดการเรียนรู้ให้แก่ “ผู้ตกงาน” เป็นลำดับแรก เพราะขณะนี้สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ประชาชนหลายคนกลายเป็นคนว่างงาน จึงคิดว่าควรจะหาวิธีที่จะช่วยคนเหล่านี้ให้มีทางออกในชีวิต เพราะที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการจะมุ่งเน้นการเรียนการสอนโค้ดดิ้งไปที่ครูและนักเรียน แต่ความจริงแล้วการเรียนโค้ดดิ้งสามารถกระจายการเรียนรู้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ และทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับเกษตร

ตามนโยบายเกษตรประณีต หรือ 1 ไร่ 1 แสน หรือโค้ดดิ้งสำหรับแรงงาน เพราะทุกชีวิตของคนทั่วไปจะต้องเรียนรู้การคิดอย่างเป็นระบบ

ดังนั้น การนำโค้ดดิ้งมาให้กลุ่มผู้ตกงานได้เรียนรู้ ก็จะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ตกผลึกทางความคิดและแก้ปัญหาได้ เช่น งานที่ทำไม่ตรงกับสาขาวิชาที่จบการศึกษา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้มีการคิดอย่างเป็นระบบ และเมื่อประมวลผลทางความคิดได้ ก็จะค้นพบว่าจากนี้จะต้องเดินไปต่อด้วยการทำอะไร หรืออาจไปศึกษาต่อเพิ่มเติม เพื่อทำอาชีพให้ตัวเองมีรายได้ต่อไป”

นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ และนโยบาย รมช.ศธ. (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) และประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูล สร้างความตระหนักและการรับรู้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ ทักษะ และการเรียน Coding กล่าวว่า Coding ซึ่งถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์การเรียนการสอนหน้าใหม่ของการศึกษาประเทศไทยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 การเรียน Coding มีความสำคัญอย่างยิ่งกับเด็กตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมหาวิทยาลัย Coding สามารถนำมาปรับใช้โดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์เสมอไป หรือที่เรียกว่า Unplug Coding ใน การเรียนสำหรับเด็กชั้นอนุบาล ประถม หรือคนทั่วไป โดยกระทรวงศึกษาจะหลักดันการเรียน Coding ไปสู่ทุกภาคส่วนทั้งการศึกษาภาคปกติ การศึกษาพิเศษ รวมไปถึงอาชีวะเกษตรและเทคโนโลยี เพราะ Coding คือ ทักษะการคิดที่เป็นขั้นเป็นตอน”

ทั้งนี้การเรียนโค้ดดิ้งจะสร้างทักษะ 5 ด้านให้กับผู้เรียน ได้แก่ 1)ทักษะในการอ่าน 2)ทักษะในการเขียน เขียนเพื่อสื่อสารกับใครต่อใครได้ 3)ทักษะในการคิดสร้างสรรค์ คิด วิเคราะห์ อย่างมีเหตุมีผล 4)ทักษะเชิงคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ 5)กล้าตัดสินใจ เป็นเหตุเป็นผล การเรียนโค้ดดิ้งจึงเป็นการเรียนเพื่อสร้างทักษะต่างๆ ให้กับผู้เรียน เพื่อให้ชีวิตประจำวันของผู้เรียนทุกคนอยู่กับการมีเหตุมีผลนั่นเอง.

#ครูกัลยา
#ครูหญิงโค้ดดิ้ง
#คณะกรรมการCodingแห่งชาติ