#พิมรี่พาย : เจ้าตัวแจงดราม่าช่วยเด็กดอย ถามผิดอะไรที่ทำดี กศน.อมก๋อย รีบประกาศ ห้ามโพสต์ขอรับบริจาค!

ประเด็นที่ตอนแรกเป็นคอนเท้นต์ดีๆจนกลายเป็นข้อถกเถียงและลุกลามเป็นดราม่าในช่วงเวลานี้อย่าง พิมรี่พายช่วยเด็กดอยด้วยเงิน 5 แสนบาท ก็ทำให้สังคมออกมาแสดงความเห็นเช่นเดียวกันการออกมาด่าทอเรื่องความเหลื่อมล้ำ หรือการสร้างภาพ ล่าสุดเมื่อคืนวานนี้ พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ “พิมรี่พาย” ยูทูปเบอร์สายบิ้วตี้ที่เป็นที่รู้จักในการไลฟ์ขายของ ได้ไลฟ์เฟซบุ๊ก บอกว่า ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องราวใหญ่โตขนาดนี้ ตลอดระยะเวลา 2 วันที่ปล่อยคลิป ตกตะกอนความคิดพอสมควร ชั่งน้ำหนักถึงการแสดงความคิดเห็น ของกลุ่มต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ นี่คืออาชีพ “พิม” ที่จะต้องสร้างภาพให้ลูกค้าเห็น อันดับแรกจะพูดเรื่องสร้างภาพ เพื่อหากินจริงๆ เพราะเป็นอาชีพ จะสร้างแบบใหนเพื่อคืนสู่สังคม อยู่ที่คุณธรรมและจริยธรรมในหัวใจ

ที่ต้องมาทำคลิปความดีเพราะปังมาก ตนเป็นแม่ค้าออนไลน์มา 3 ปี ซึ่งขายของมาตั้งแต่เด็ก โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้วเอาเงิน 1 ล้านบาทแรกที่ขายของได้ไปวางที่เท้าพ่อ ซึ่งเมื่อพูดถึงตรงนี้เจ้าตัวถึงกับสะอื้นออกมา จากนั้นพิมรี่พาย ก็เล่าถึงที่มาของการทำคลิปความดี โดยย้อนไปถึงช่วงที่มีเงินและอยากกินอะไรก็กิน ทำงานได้เงินมาเยอะและใช้เงินเพื่อซื้อของที่ต้องการ รวมทั้งอยากกินอะไรก็กิน กระทั่งวันหนึ่งก็คิดว่า ใช้เงินเยอะในการกิน แต่ก็กินเท่าเดิม ไม่ว่าจะมีเงินมากหรือน้อย เพราะคนเราก็กินได้แค่อิ่มเท่านั้น

จึงเริ่มมาทำคอนเทนต์ความดี ออกไปช่วยคน ได้จากสังคมมาเท่าไร ก็คืนสังคมเท่านั้น อย่างเต็มที่และเต็มใจที่สุด ไม่ว่าใครจะขออะไร ตนผิดอะไรที่กตัญญู ทำความดีเพื่อบ้านเกิดเมืองนอน ถ้าจะผิดก็ขอโทษที่พกพร่อง ที่ไม่ได้ประสานเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ดูแลจุดนั้นก่อน ถ้าใครมีความเห็นอื่นที่ต่างไป ให้มองถึงเจตนา แค่อยากทำความดี

ยืนยันว่าตนเองทำความดี ไม่ได้มีเจตนาอะไรที่ไม่ดี ฝากถึงคนที่ติดตามไม่ต้องห่วง ตนทำความดี ไม่ได้ทำอะไรไม่ดี ไม่หวั่นไหวกับการทำความดี และจะทำต่อ สนับสนุนให้ทุกคนทำความดีและตนจะทำต่อไป ไม่มีใครมารังแกตน เพราะรู้ว่าตนทำความดี อยากถามว่าดราม่าทำไม เอาตนไปเป็นเครื่องมือความสนุกทำไม แล้วแบบนี้คนที่จะทำความดีจะทำต่อได้ไหม ตนจะทำบุญจนตาย

‘กศน.อมก๋อย’ รีบเบรก ประกาศ ‘ห้ามโพสต์ขอรับบริจาค!’ 

โลกออนไลน์ มีการเผยแพร่ประกาศ ศูนย์ กศน.อมก๋อย ลงวันที่ 9 ม.ค. 2564 เรื่อง การสร้างความเข้าใจในการใช้สื่อโซเชียลในการสื่อสาร โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้ ด้วยในสภาวะปัจจุบัน มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อผลดี และผลเสียต่อหน่วยงาน

เพื่อให้การปฏิบัติราชการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และเพื่อมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ศูนย์ กศน.อมก๋อย จึงขอประกาศให้ครูและบุคลากรในหน่วยงานปฏิบัติดังนี้ เช่น ห้ามโพสต์เกี่ยวกับการรับบริจาคทุกช่องทาง ห้ามตอบโต้ผ่านสื่อโซเชียล งดรับบริจาคทุกประเภท ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าว ก็กลับทำให้มีการตั้งคำถามจากชาวโซเชียล อย่าง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความและภาพผ่านทวิตเตอร์ว่า

“ถ้าโรงเรียนบนดอย และในพื้นที่ทุรกันดาร มีความขาดแคลน จากการที่รัฐละเลย ไม่เหลียวแลที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ พวกเขาจะดิ้นรน ขอรับบริจาคความช่วยเหลือจากใครไม่ได้ ต้องก้มหน้าก้มตา ยอมจำนนต่อโชคชะตา อย่างนั้นหรือครับ”

เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะพุ่งไปยัง ระบบราชการไทย ที่ล้าหลัง ไม่พัฒนา ไม่ปรับเปลี่ยน แล้วมาปิดกั้นคนอื่นที่จะยื่นมาช่วย

ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา มีรายงานว่า นางวิไลลักษณ์ สุขสาย ผู้อำนวยการ กศน.อำเภออมก๋อย ได้ลงนาม คำสั่งประกาศ ศูนย์ กศน. อำเภออมก๋อย เรื่อง ยกเลิกประกาศ การสร้างความเข้าใจในการใช้สื่อโซเชียล โดยว่า

ตามที่ ศูนย์ กศน. อำเภออมก๋อย ออกประกาศ เรื่อง การสร้างความเข้าใจในการใช้สื่อโซเชียล ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2564 นั้น ศูนย์ กศน. อ.อมก๋อย ขอยกเลิกประกาศดังกล่าว เนื่องจากมีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน จึงแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน

นักวิชาการ ชี้ วิถีคนดอย เอาของช่วยได้แต่อย่าไปตัดสิน

ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสาตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักวิชาการที่คลุกคลี และช่วยเหลือปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการพัฒนาจากรัฐและทุน แสดงความคิดเห็นความว่า

ไข่เจียวและมายาคติ

ถ้าถามเด็กบนดอยว่ารู้จักไข่เจียวมั้ย แน่นอนว่าเขาจะตอบว่าไม่รู้จัก ถามว่าอยากกินมั้ย ถามแบบนี้ก็อยากกินแหละครับ แต่จะรู้มั้ยว่าไข่เจียวนั้น เด็กบนดอยเขาเรียกทอดไข่

บนดอยมีไก่เกือบทุกบ้านครับ เพราะยังไงก็ต้องเลี้ยงไก่ อย่างน้อยก็ต้องเอาไว้ไหว้ผี (สิ่งเหนือธรรมชาติ-super nature) ที่มีเต็มไปหมด ทั้งผีฝาย ผีขุนน้ำ ผีไฟ ฯลฯ เมื่อมีไก่ก็ต้องมีไข่แหละครับ เพียงแต่จะทำอะไรกินและเรียกว่าอะไร ต้มก็ได้ ทอดไข่ก็ได้ แต่ไม่ได้เรียกว่าไข่เจียวแบบคนไทยเท่านั้นเอง ไม่ใช่แค่ไข่ครับ หมูก็มี วัวก็มี และก็มีโอกาสพิเศษที่ได้กินอาหารเหล่านี้ เช่น เมื่อมีพิธีกรรมต่างๆ

ถ้าถามว่าทำไมของกินในครัวมีแต่พริกกับเกลือ พริกกับเกลือสำคัญมากครับ ขาดไม่ได้ เข้าป่าขึ้นดอยก็ต้องเอาพริกกับเกลือไปด้วย สำหรับเด็กๆ แล้วเกลือนี่ของอร่อยเลยครับ ในโอกาสพิเศษ ถ้ามีเกลือเยอะ เด็กๆ ก็ได้เกลือมากัดกินเล่นกัน (เลิศกว่าขนมถุงมากครับ)

ดังนั้น ไม่ต้องคิดที่จะไปสอนเขาปลูกผักสลัดหรอกครับ แต่ให้เข้าใจว่าความรู้ในการทำเกษตรของเขาลึกซึ้งกว่าเรามาก และเราควรเรียนรู้จากเขามากกว่า

ถามว่าคนบนดอยอยากมีไฟฟ้าไหม ส่วนใหญ่ก็อยากมีแหละครับ แต่ที่ไม่อยากมี มันก็เคยมีจริงๆ ผมเคยพบ เพราะเขาตกลงกันทั้งหมู่บ้านหรือป๊อกบ้านว่าถ้าไฟฟ้าเข้าจะทำให้เป็นหนี้เยอะ ปัจจุบันหมู่บ้านที่คิดแบบนี้ก็เปลี่ยนใจเป็นยอมให้ไฟฟ้าเข้า แต่ก็ใช้กันเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ต้องเสียค่าไฟมาก และวิถีชีวิตยังแตกต่างกับคนในเมือง ค่ำมาก็ต้องนอน เพราะเช้ามาก็ต้องทำการผลิตทางเศรษฐกิจ จะหุงข้าว ทำอาหาร ก็มีเชื้อเพลิงอย่างอื่นที่ได้มาฟรีๆ

รู้ไหมครับว่าหมู่บ้านบนดอยไกลโพ้นไปจนสุดชายแดนไทย-พม่า มีโซลาร์เซลล์ทั้งนั้น แต่ส่วนใหญ่เสียครับ

สำหรับหมู่บ้านที่เสาไฟฟ้ายังไม่เข้า ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากได้ครับ แต่ว่าหมู่บ้านแบบนี้เกือบร้อยทั้งร้อยถูกรัฐประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับ ชุมชนเกิดขึ้นมาก่อนและป่าคือส่วนหนึ่งของชุมชน แต่เขตอนุรักษ์ของรัฐมาทีหลังและแยกคนออกจากป่า ทีนี้หมู่บ้านแบบนี้ ก็ถูกรัฐจำกัดการพัฒนา แม้แต่เสาไฟฟ้าก็ไม่ได้รับอนุญาตให้มี แล้วจะมีไฟฟ้าได้อย่างไร

ถ้าจะให้คนบนดอยมีไฟฟ้าใช้ ก็ต้องไปบอกให้หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเรื่องโซลาร์เซลล์ช่วยไปซ่อมโซลาร์เซลล์ให้ใช้ได้ครับ ไม่ใช่ปล่อยทิ้งร้างเพราะมันคือภาษีของพวกเราด้วย และช่วยเรียกร้องให้รัฐยกเลิกเงื่อนไขที่จำกัดการพัฒนาหมู่บ้านที่ถูกเขตอนุรักษ์ทับชุมชนรวมถึงจำกัดสิทธิในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรในป่า

ถ้าถามว่าเด็กบนดอยมีความฝันไหม ผมว่าทุกคนมีความฝันแหละครับ แต่เราเข้าถึงความฝันเขาได้หรือไม่? เพราะโลกทรรศน์ของคนบนพื้นที่สูงแตกต่างไปจากโลกทรรศน์ของเราอย่างสิ้นเชิง

ถ้าถามว่าเด็กๆ บนดอยขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษามั้ย แน่นอนครับว่าขาด แต่คนทำงานกลุ่มชาติพันธุ์ที่สนใจด้านการศึกษาเขาชี้มานานแล้วว่าที่เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพราะครูมักไม่มาสอน ครูเองไม่ได้เงินเดือน เมื่อย้ายไปเรียนที่โรงเรียนที่อยู่ด้านล่าง เด็กก็เริ่มไม่กล้าพูดกับคนอื่นเพราะห่างจากการใช้ภาษาพ่อภาษาแม่ออกไปทุกที การศึกษาของรัฐขั้นพื้นฐานจึงไม่ตอบสนองต่อพวกเขา และทีวีก็ไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้เขารู้โลกกว้าง เอาเข้าจริงรายการทีวีนี่โค-ตระ ไร้สาระเลยครับ

แล้วจะแก้การศึกษาของเด็กบนดอยอย่างไร? ง่ายๆ เลยครับ โรงเรียนวิถีชีวิตครับ ปัจจุบันมีการสอนกันที่มีทั้งเนื้อหาตามหลักสูตรของรัฐ และต้องเรียนวิถีชีวิตที่มีครูที่เป็นผู้รู้ในชุมชนเป็นผู้สอน เรียนทอผ้าจากแม่ เรียนดนตรีจากผู้เฒ่า เพื่ออะไร ก็เพื่อเด็กๆ จะได้อยู่ในชุมชนได้ด้วย ออกไปข้างนอกก็เอาตัวรอดได้ เมื่อกลับเข้าชุมชนก็ไม่แปลกแยกกับชุมชน โจ๊ะมาโลลือหล่า ที่บ้านสบลานคือตัวอย่าง ช่วยสนับสนุนให้เกิดโจ๊ะ (โรงเรียน) แบบนี้เยอะๆ เลยครับ

ผมไม่ติดใจการช่วยของใครก็แล้วที่มีแต่ต่อพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์บนดอย แต่อย่าเอาทัศนะของคนนอกไปตัดสิน ก่อนทำอะไรควรเรียนรู้ทัศนะของคนในก่อน และที่สำคัญอย่าผลิตซ้ำการเหยียดบนทัศนะของการแบ่งพวกเขา-พวกเรา โดยจัดให้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นชาวเขาที่ห่างไกลจากคนกรุงที่ถือว่าตัวเองมีอารยะทั้งในเชิงพื้นที่ (เช่น หมู่บ้านอยู่ไกลโพ้น ก่อนถึงหมู่บ้านเดินทางยากลำบาก เส้นทางแสนกันดาร มีฝุ่นคลุ้ง) และเชิงเวลา (ด้อยการพัฒนา ไข่เจียวก็ไม่เคยกิน ผักสลัดก็ปลูกไม่เป็น วันๆ เอาแต่ถางหญ้า ถางเขา)

การแบ่งคนเป็นขั้นโดยจัดให้คนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเป็นชาวป่า-ชาวเขา ที่มีนัยะไร้อารยะและต้องการทำให้เขามีอารยะมีมาตั้งแต่พระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่าแล้วครับ อยากรู้ละเอียดก็ต้องอ่านบทความเรื่อง ความเป็นอื่นในชาติเดียวกันของอาจารย์ธงชัย วินิจกุล นะครับ แล้วเราจะเข้าใจความหมายของคำว่า ชาวป่า/ชาวเขา (ไม่ใช่ไทย ไม่มีอารยะ) -ชาวบ้านนอก (ใกล้เคียงกับไทย)-คนกรุง (มีความเป็นไทย มีอารยะ)-ชาวตะวันตก (มีความศิวิไลซ์ เหนือกว่าไทย) ว่าเป็นอย่างไร