ญี่ปุ่นสั่งครูต่างชาติ ถอดต่างหูออก เจอสวนต้องรู้ภาษา-วัฒนธรรมอันหลากหลาย

วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2563 เว็บไซต์ SoraNews24 ของญี่ปุ่นได้รายงานว่า คณะกรรมการการศึกษาญี่ปุ่นสั่งให้ครูผู้ช่วยภาษาต่างประเทศ ถอดต่างหูออก เจอสวนกลับว่า การเรียนภาษาคือการพยายามเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างของคนอื่น

โรงเรียนในญี่ปุ่น โดยปกติแล้ว ครูผู้ช่วยภาษาต่างประเทศ (ALT) ได้รับการว่าจ้างจากคณะกรรมการการศึกษาในพื้นที่ ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยสนับสนุนการเรียนภาษาภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่เพื่อให้ครูผู้สอนหลักและนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้โดยตรงเกี่ยวกับวัฒนธรรมของต่างประเทศอื่น ๆ อย่างกว้างขวางผ่านคนต่างประเทศจริง ๆ ดังนั้น ครูผู้ช่วยจึงไม่ใช่ครูที่เป็นคนที่พูดอังกฤษเป็นภาษาแรก นั่นเอง

งานในลักษณะนี้ เป็นงานที่เน้นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ซึ่งมีความสำคัญมากกับเมืองที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ เพราะผู้อยู่อาศัยในเมืองจำนวนมากอาจไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับชาวต่างชาติหลากหลายเชื้อชาติมาก่อน อย่างไรก็ตามบางครั้งบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมจากต่างประเทศ อาจขัดแย้งกับสิ่งที่คณะกรรมการการศึกษาท้องถิ่นพิจารณาว่ายอมรับได้ และเมื่อไม่นานมานี้ ครูผู้ช่วยภาษาต่างประเทศคนหนึ่ง ถูกขอให้ถอดต่างหูออก โดยครูผู้ช่วยฯคนนี้ มาจาก ประเทศในแถบละตินอเมริกา และเรื่องราวที่เกิดขึ้นถูกแชร์บนทวิตเตอร์

ครูผู้ช่วยภาษาต่างประเทศ คนดังกล่าว รู้สึกโกรธ คณะกรรมการการศึกษาของโรงเรียนอย่างมาก ที่เธอถูกสั่งให้ถอดต่างหูเมื่ออยู่ต่อหน้าเด็ก ๆ เพราะในวัฒนธรรมของชาวละตินอเมริกัน พ่อแม่จะสวมต่างหูขนาดใหญ่ให้ลูกตั้งแต่ยังอายุน้อย ๆ เพื่อต่อต้านการเหยียดผิวและทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็งและเคารพตนเอง ครูผู้ช่วยฯ กล่าวว่า “คุณไม่ได้เรียนภาษาต่างประเทศเพื่อที่จะเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศอื่นหรืออย่างไร? การใส่ตุ้มหูของฉัน มีผลเสียต่อนักเรียนมากแค่ไหน เมื่อคุณมาญี่ปุ่น แน่นอนว่าการปฏิบัติตามวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้นถูกต้อง อย่างไรก็ตามคุณสามารถเข้ากับผู้คนได้ดีเมื่อได้รู้จักภูมิหลังทางวัฒนธรรมของกันและกัน ฉันคิดว่านี่คือสิ่งที่เราควรแสดงให้เด็ก ๆ เห็น”

แม้ว่านักเรียนจะไม่ได้รับอนุญาตให้สวมเครื่องประดับที่โรงเรียน แต่โดยทั่วไปแล้วครูไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎที่เข้มงวดเช่นเดียวกับนักเรียน คำขอให้ครูผู้ช่วยฯถอดต่างหูนี้ มาจากคณะกรรมการการศึกษา ซึ่งไม่ได้มาพูดคุยครูผู้ช่วยภาษาต่างประเทศโดยตรง แต่พวกเขาสั่งให้ครูใหญ่ของโรงเรียนมาบอกเรื่องนี้กับครูผู้ช่วยฯ

มีความเห็นจำนวนมากที่ทั้งสนับสนุนและโจมตี ครูผู้ช่วยฯ คนดังกล่าว

“เรามี ALT ที่กล้าใส่ตุ้มหูขนาดใหญ่ในชั้นเรียน เด็ก ๆ อาจพูดว่า “สวย!” หรือ “ฉันชอบต่างหูของคุณ” เป็นภาษาอังกฤษ รูปทรงและสีของต่างหูยังทำให้เด็ก ๆ ต้องพูดว่า “สีชมพู!” และ “สามเหลี่ยม” เราทำทุกอย่างเพื่อปลุกความรู้สึกของเด็ก ๆ แต่คณะกรรมการการศึกษา…(ถอนหายใจ)”

“ถ้าห้ามครูใส่ตุ้มหูเพราะนักเรียนมีกฎห้ามใส่เครื่องประดับ ก็หมายความว่าครูไม่ได้รับอนุญาตให้มีใบขับขี่หรืออย่างไร”, “ครั้งหนึ่งฉันเคยบอก ALT ให้หยุดเคี้ยวหมากฝรั่งในชั้นเรียน พวกเขาหยุดแม้ว่า ฉันจะพูดอะไรได้ถ้าพวกเขาเถียงว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของพวกเขา”, “ผู้คนใส่ตุ้มหูเป็นสัญลักษณ์ของความงามไม่ใช่หรือไง? มันมีแง่มุมทางวัฒนธรรมจริงๆ หรือ?”

ความคิดเห็นนี้ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการมี ครูผู้ช่วยฯ เพราะงานของครูผู้ช่วยฯ คือการช่วยให้คนในท้องถิ่นเรียนรู้และความเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศอื่น ๆ เพราะในขณะที่ต่างหูอาจถูกมองว่าเป็นเครื่องประดับแฟชั่นสำหรับคนในญี่ปุ่น แต่สำหรับผู้หญิงละตินอเมริกาต่างหูเหล่านี้ช่วยทำให้เธอรู้สึกมีพลัง และไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กหญิงในประเทศแถบประเทศละตินอเมริกาจะสวมใส่ตั้งแต่ยังเล็ก

ยิ่งผู้คนในญี่ปุ่นได้รู้จักและสัมผัสกับชาวละตินอเมริกันที่สวมตุ้มหูมากเท่าไร พวกเขาก็จะเข้าใจได้มากขึ้นว่ามีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่น่าภาคภูมิใจของเชื้อชาติอื่น ๆ ผูกติดอยู่กับการใส่เครื่องประดับ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงมรดกทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติที่หลากหลาย

อย่างไรก็ตาม มีเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติคนหนึ่งของครูผู้ช่วยฯ แนะนำให้เธอถอดต่างหูออกเพื่อรักษาความสงบ มันแสดงให้เห็นว่าเส้นแบ่งระหว่างการรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม กับการหลอมรวมเข้ากับสังคมญี่ปุ่นนั้น ไม่เหมือนกันสำหรับทุกคน และเป็นเรื่องของการตัดสินใจของแต่ละคนที่ชาวต่างชาติทุกคนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นพยายามดิ้นรนเพื่อสร้างจุดที่สันติร่วมกัน

น่าเศร้าที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าคณะกรรมการการศึกษาและครูผู้ช่วยฯคนนี้จะหารือให้เรื่องนี้ลงเอยด้วยดีได้หรือไม่ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เคร่งครัด ในโรงเรียนรัฐบาล มีการบังคับให้นักเรียนย้อมผมเป็นสีดำและเรียกร้องให้นักเรียนสวมชุดชั้นในสีขาว จึงเป็นไปได้สูงว่าคณะกรรมการการศึกษาไม่น่าจะยอมผ่อนปรนกฎเกณฑ์เหล่านี้ลง