‘วิษณุ’ ชี้ นายกฯ มีอำนาจ ออกข้อกำหนดห้ามชุมนุมได้ ไม่ต้องรอติดเชื้อในม็อบ

วันที่ 4 ธันวาคม 2563 เมื่อเวลา 10.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี การประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินในปัจจุบันนี้สามารถบังคับใช้ ไม่ให้มีการชุมนุมเพื่อป้องกัน การแพร่ระบาด โควิด-19 ได้หรือไม่ ว่า มีข้อกำหนดในพ.ร.ก. ฉุกเฉินไว้แล้วว่าสามารถกำหนดในเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ ตามมาตรา 9

โดยในช่วงแรกของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้กำหนดห้ามมีการชุมนุมก่อนที่จะ ผ่อนคลายมาตรการลง ดังนั้นหากจะประกาศห้ามชุมนุมอีกก็สามารถทำได้ แต่ปัจจุบันไม่ได้มีการประกาศห้ามชุมนุมเอาไว้ เพราะยังไม่เห็นถึงความจำเป็น

แต่ถ้าจะประกาศก็สามารถกำหนดเป็นพื้นที่ๆได้ ได้หรือกำหนดพฤติกรรมการชุมนมได้ รวมถึงการตั้งเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่นเมื่อไม่นานมานี้มีการ ผ่อนคลายมาตรการการรวมตัวของผู้คนเพื่อทำกิจกรรมแต่ละด้าน จาก 200 เป็น 250 คน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากเหตุการณ์ล่าสุดกรณีที่พบผู้ติดเชื้อจากการชมคอนเสิร์ต ทางจังหวัดภาคเหนือ ทาง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.)จะพิจารณามาตรการเข้มงวดเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 หรือไม่

นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้ทางศบค.ชุดเล็ก ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธาน เป็นผู้พิจารณา ซึ่งเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในที่ประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากผลกระทบการแพทยระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบศ.) ได้สั่งการในเรื่องดังกล่าวต่อกรณีที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือ ว่าจะตีวงเฉพาะภาคเหนือหรือไม่ หรือจะขยายมาถึงกทม.หรือไม่ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะทำอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นหรือไม่ จะต้องให้เกิดการติดเชื้อ โควิด-19 เนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองเสียก่อน จึงจะบังคับไม่ให้มีการชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ต้อง เพราะเมื่อประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินแล้วก็สามารถออกข้อกำหนดเพิ่มได้ เช่น การห้ามชุมนุม การควบคุมสื่อ การเข้ายึดอายัด ซึ่งตอนนี้เราไม่ได้ใช้เลยแม้แต่ข้อเดียว โดยศบค. ชุดใหญ่มีหน้าที่เสนอ ต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศบค. เพราะอำนาจ เป็นของนายกรัฐมนตรี

“เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและมีข้อกำหนดห้ามการชุมนุมพ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะก็จะไม่ถูกนำมาใช้ แต่ขณะนี้ประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินโดยที่ไม่ได้บังคับห้ามชุมนุม จึงนำพ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะมาใช้ สรุปคือ จะมีการชุมนุมหรือห้ามชุมนุมตามพ.ร.บ. 2 ฉบับไม่ได้ต้องใช้ทีละอย่าง