“หมอเอก” แนะรัฐบาลหาจุดสมดุล “ผู้ติดเชื้อโควิด-เศรษฐกิจปากท้อง”

วันที่ 2 ธันวาคม 2563 ที่อาคารรัฐสภา นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เขต1 จังหวัดเชียงราย พรรคก้าวไกล ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่มีผู้ติดเชื้อโควิดจากประเทศเมียนมาร์เข้ามาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา

นายแพทย์เอกภพ กล่าวว่า สถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นในขณะนี้ว่าคล้ายกับช่วงที่โรคโควิด19ระบาดในช่วงแรกเกิดในประเทศไทยที่ผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ แต่ความแตกต่างคือขณะนี้เรามีความรู้มากขึ้นมีความพร้อมในด้านความรู้ ความเข้าใจโรคนี้มีมากขึ้น พร้อมกับมีศักยภาพในการตรวจหาเชื้อที่พร้อมขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของจังหวัดเชียงรายที่ได้มีการแถลงจากทางจังหวัดว่าสามารถทำการตรวจโรคได้วันละ 500 รายมีเตียงสำรองไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด 400 เตียง และมีการสำรองเครื่องช่วยหายใจไว้สำหรับผู้มีอาการหนักจำนวน 100 กว่าเครื่อง ดังนั้นด้วยระบบสาธารณสุขและความพร้อมของเชียงรายน่าจะรับมือได้ รวมทั้งความพร้อมในระบบสาธารณสุขของประเทศไทยเองนั้น เรามีความพร้อมของบุคลากรสาธารณสุข ความพร้อมในการมีองค์ความรู้เรื่องการสอบสวนโรคมากขึ้น เรามีประสบการณ์ในการจัดการโรคมากขึ้น ถึงแม้ตอนนี้เราจะมีคนไข้แต่สถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไปจากเดิม แต่ทั้งนี้ก็ยังหวังว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น

นายแพทย์เอกภพ ยังได้ชวนสังคมให้ตั้งคำถามและตั้งสติว่า ตอนนี้เราควรกลัวอะไรกันแน่ระหว่างโควิดกับกลัวต้องปิดเมืองปิดเศรษฐกิจจากมาตรการโควิดเพราะถ้าตั้งต้นผิดทุกอย่างที่ตามมาก็จะผิดหมด

“การรับมือโควิดไม่ใช่แค่ทำให้การติดเชื้อเป็นศูนย์ แต่การรับมือโควิดที่ดีคือการหาสมดุลระหว่างจำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่เกินกับที่ระบบสาธารณสุขจะรับได้กับเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนที่ต้องดีด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลไปมุ่งเน้นกับการยึดติดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้เป็นศูนย์ โดยระบบสาธารณสุขของประเทศไทยมีการทดสอบระบบแล้ว บุคลากรทางด้านสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขต่างได้รับความชื่นชม มีความเสียสละและมีความสามารถ รวมทั้งระบบการรักษาโรคก็ได้รับการชื่นชม มีประสิทธิภาพ เมื่อรวมๆกันเรามีระบบสาธารณสุขที่ดีมาก มีความพร้อมที่จะรองรับผู้ติดเชื้อได้บ้างในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีน ไม่ได้เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องปิดเมือง ปิดเศรษฐกิจ” นายแพทย์เอกภพ กล่าว

นายแพทย์เอกภพ ยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ระบบการสอบสวนโรคหรือ contact tracing ที่รัฐบาลเลือกใช้คือ “ไทยชนะ” นั้นได้รับการทดสอบว่าอาจไม่สามารถสืบหาผู้สัมผัสเชื้อได้ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้มีระบบที่ดีกว่าและเป็นระบบมากกว่าแบบที่หลายประเทศใช้คือการใช้เทคโนโลยี bluetooth ที่ชื่อว่า “หมอชนะ” โดยระบบนี้ทำออกมาก่อนไทยชนะอีกแต่ไม่ถูกเลือกใช้ อีกทั้งยังมีปัญหาการจัดการโรคระบาดด้วยมาตรการทางปกครองและมาตรการทางกฏหมาย โดยตนเองเห็นว่าการใช้วิธีการเช่นนี้ไม่ได้เป็นวิธีการรับมือกับโรคระบาดลักษณะนี้ เพราะการปิดเมืองปิดเศรษฐกิจนานๆ ทำให้เกิดผลกระทบมากกว่าตัวโรค การรับมือกับโรคระบาดลักษณะนี้ควรจำเป็นต้องมีความเข้าใจเรื่องทางระบาดวิทยาด้วย

“นอกจากนี้ปัญหาสำคัญที่รัฐทำพลาดมาตลอด คือการสื่อสารทำให้ผู้ติดเชื้อกลายเป็นคนผิด เป็นผู้ที่ถูกประณามจะเห็นว่าในหลายกรณีจะมีการโจมตีผู้ติดเชื้ออย่างรุนแรง เทียบเคียงให้เข้าใจมากขึ้นซึ่งก็เหมือนกับตอนที่ HIV ระบาดใหม่ๆ คนที่ติดเชื้อจะเป็นที่รังเกียจของสังคมและถูกประณามจากสังคม กว่าที่จะสามารถเปลี่ยนทัศนคติของสังคมได้ว่าเป็นการติดเชื้อชนิดหนึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร” นายแพทย์เอกภพ กล่าว

นอกจากนี้ สืบเนื่องจากกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ในต่างจังหวัดลดลงเพราะตำรวจส่วนหนึ่งต้องเข้ามาดูแลการชุมนุมในกรุงเทพ ซึ่งนายแพทย์เอกภพ กล่าวว่า คนที่มีหน้าที่ตรงนั้นควรให้เขาอยู่ตรงนั้นใครเป็นคนสั่งให้พวกเขาเข้ามาในเมือง ยิ่งไปกว่านั้นหากพูดให้ถึงที่สุดปัญหาหลักอาจหมายรวมไปถึงความเข้าใจในการดูแลโรคของผู้นำเองด้วย เพราะการใช้กำลังในการดูแลโรคไม่สามารถมีประสิทธิผลได้ รวมทั้งการปิดชายแดนเลยอาจไม่มีประโยชน์เพราะอาจมีการลักลอบเข้ามาไม่ว่าจะปิดดีแค่ไหนก็ตาม ดังนั้นการดูแลตามแนวชายแดนจำเป็นต้องมีการประสานงานพูดคุยกันระหว่างสองประเทศที่มีพรมแดนติดกันเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องมีการตรวจโรคที่ชายแดน มีการลงทะเบียนประวัติผู้ที่เดินทางเข้าออก

นายแพทย์เอกภพ ยังกล่าวด้วยว่า ถ้ารัฐแสดงความพร้อมในการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแสดงความพร้อมว่าคนที่สงสัยทุกคนสามารถตรวจหาเชื้อได้ฟรีและรักษาได้ฟรี แทนที่จะต้องเสียเงินเองถ้าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง รวมทั้งถ้ารัฐแสดงให้เห็นว่าหนทางข้างหน้ายังมีความหวังไม่ใช่ให้ต้องต่อสู้ดิ้นรนเอง โรคโควิดที่เราต้องอยู่ด้วยไปอีกหลายปีก็จะเป็นโรคที่คนไทยรู้วิธีป้องกันตัวและยังอยู่ร่วมกับโรคนี้ได้โดยที่เศรษฐกิจก็ยังเดินไปได้

“ในสถานการณ์เช่นนี้ บทบาทของผู้นำเป็นเรื่องสำคัญ คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา มีภาวะผู้นำขนาดไหน มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร การอ้างประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอยู่ ที่อ้างมานั้นอ้างเพื่อยับยั้งโรคโควิดหรืออ้างเพื่อจัดการกับผู้ชุมนุมกันแน่” นายแพทย์เอกภพ กล่าวทิ้งท้าย