สรุป #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ จากแต่งไปรเวท สู่การคืนชุดนักเรียนให้กระทรวงฯ

วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ตลอดวันนี้ เป็นปรากฎการณ์ของเยาวชนที่ออกมาท้าทายต่ออำนาจโครงสร้างที่ครอบงำระบบการศึกษาไทยโดยก้าวแรกคือ การสร้างความตระหนักรู้ถึง “ตัวตน”และ “สิทธิต่อเนื้อตัวร่างกาย” ของพวกเขาเอง โดยเฉพาะเรื่องเครื่องแต่งกายและทรงผม ซึ่งยังคงเป็นประเด็นถกเถียงที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะจบลงตรงไหน แต่สำหรับเรื่องเครื่องแต่งกาย ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่แคมเปญ #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ

จุดเริ่มต้นแรกมาจาก ประกาศของภาคีนักเรียน KKC ที่เชิญชวนนักเรียนร่วมแต่งไปรเวทเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการบังคับให้แต่งเครื่องแบบนักเรียน บนเหตุผลว่าไม่ได้สร้างความเท่าเทียมได้จริงตามอย่างที่ยกอ้าง เป็นภาระต่อผู้ปกครองและบุตรหลาน หรือแม้แต่เครื่องแบบเองก็กลายเป็นเครื่องมือของการแบ่งชนชั้นของนักเรียนว่ามาจากโรงเรียนมีชื่อเสียง หรือโรงเรียนธรรมดา

ต่อมา กลุ่มนักเรียนเลวออกมาร่วมแคมเปญนี้ ร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายอีก 23 แห่งออกมาประกาศร่วมโดยยึดตามคำเชิญชวนของ ภาคีนักเรียน KKC ให้เริ่มในวันที่ 1 ซึ่งเป็นวันเปิดภาคการศึกษาใหม่

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมา บรรดาโรงเรียนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด มีนักเรียนที่ริเริ่มแต่งชุดไปรเวทแทนที่จะสวมชุดเครื่องแบบนักเรียนเพื่อแสดงจุดยืนร่วมแคมเปญนี้

ทำให้ปรากฎนักเรียนในชุดเสื้อคลุมพ่อมด ชุดลำลอง ชุดนักเรียนแต่สลับเพศใส่ จากโรงเรียนมัธยมปลายชื่อดังอย่างเตรียมอุดมศึกษา ชุดสูทหมีพูห์ของนักเรียนชายแห่งสามเสนวิทยาลัย นักเรียนหญิงในชุดไทยโบราณของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต ไปจนถึงชุดไปรเวทหลายแบบในโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัยชื่อดังของเมืองขอนแก่น และโรงเรียนสุรนารีของนครราชสีมา

ปฏิกิริยาตอบรับจากโรงเรียนของนักเรียนที่แสดงจุดยืนต่างปรากฎในรูปแบบที่ต่างกัน จากตอบรับอย่างดีให้เข้าเรียนตามปกติ ทั้งในเตรียมอุดมศึกษา สามเสนวิทยาลัย สาธิตประสานมิตร หรืออุดรพิทย์ ไปจนถึงเชิญไปห้องปกครองเพื่อแจ้งผู้ปกครองและกำหนดบทลงโทษ หรือหลายกรณีคือ ให้นักเรียนอยู่ในสถานที่นั้นเป็นเวลานานหลายชั่วโมง จนมีนักเรียนจำนวนมากออกมาตะโกนเรียกร้อง “ปล่อยเพื่อนเรา” จนดังกึกก้องทั่วอาคารเรียน หรือหนักที่สุด ทันทีที่เห็นนักเรียนในชุดไปรเวทก็ให้รวมตัวก่อนไล่กลับบ้านไปในโรงเรียนเซนต์โยเซฟ คอนแวนท์ หรือปิดประตูไม่ต้อนรับนักเรียนในชุดไปรเวทอย่างโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา

ผลลัพธ์ที่ออกมาหลายแบบโดยเฉพาะในแง่ไม่ยอมรับจุดยืนของนักเรียน ทำให้กลุ่มนักเรียนเลว ได้จัดทำเว็บไซต์ให้นักเรียนกรอกข้อมูลแบบเรียลไทม์ว่ามีครูและโรงเรียนใดบ้างที่ทำการล่วงละเมิดการแสดงออกของนักเรียน ซึ่งมีจำนวนมาก และสถิติจำนวนครั้งของการโรงเรียนที่มีการละเมิดนักเรียนก็ถูกนำเสนอแบบจัดอันดับอีกด้วย

ปฏิกิริยาต่อแคมเปญไม่เพียงเกิดขึ้นในโรงเรียนเท่านั้น สังคมภายนอกที่รับรู้ปรากฎการณ์นี้ก็แสดงความคิดเห็นหลากหลาย แต่ก็สามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มสนับสนุนและต่อต้านแคมเปญนี้ แม้แต่บุคคลในแวดวงการเมืองและสังคมก็ออกมาร่วมแสดงทัศนะต่อเรื่องนี้ด้วย

ฝ่ายคัดค้าน : จาก ‘ไร้สาระ’ ไปจนถึง ‘ให้แก้ผ้ามาเรียน’

นายสมชาย เเสวงการ ส.ว.แต่งตั้งจากคสช. แสดงความเห็นว่า เรื่องไร้สาระทางการเมืองการศึกษาไทยในวันนี้ แทนที่เยาวชนผู้มีปัญญาจะเรียกร้องอย่างจริงจังในการเสนอให้ยกเครื่องปฏิรูปการศึกษาไทยให้ถึงแก่นทั้งระบบอย่างจริงจัง โดยการสะท้อนปัญหาพร้อมข้อเสนอแนะอย่างเป็นรูปธรรม กลับเสียเวลาต่อสู้เพื่อเอาชนะในกระพี้ไม่เอาแก่นในเรื่องจะไม่ใส่เครื่องแบบนักเรียน

หรือ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวความว่า แก้ผ้าไปโรงเรียนเถิดลูก หนูอยากแต่งชุดอะไรก็แต่ง เสรีภาพ ทำลายฝ่าฝืนระเบียบได้ มันเป็นความสะใจของคนวัยนี้ ผมก็เคยเป็นมาก่อน ทำเป็นครั้งเป็นคราว มันแรงได้ใจอก นะลูก เข้าใจหนูปลดแอกอยู่

ฝ่ายสนับสนุน : จากภูมิใจ ถึงถ้าเรียนดีก็ไม่มีปัญหา

วิญญู “จอห์น” วงศ์สุรวัฒน์ ผู้ดำเนินรายการชื่อดังทั้ง ‘เจาะข่าวตื้น’ และ Daily Topic ออกมาแสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ว่า ภูมิใจในน้องๆคนรุ่นใหม่ในเช้าวันนี้ สิ่งที่น้องๆค้นพบก่อนพวกพี่และคนล้าหลังที่ขวางหน้าน้องอยู่ตอนนี้ คือ จุดยืน ความเชื่อในสิทธิ เสรีภาพ นี่คือ สิ่งที่ขี้ข้าเผด็จการไม่มี

ทรงยศ “ย้ง” สุขมากอนันต์ ผู้กำกับภาพยนตร์และซีรีส์ชื่อดังอย่าง เลือดข้นคนจาง และ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ซึ่งเคยทำฉากหนึ่งที่ตัวละครคัดค้านการใส่ชุดนักเรียน ได้ออกมาโพสต์ภาพเด็กแต่งชุดไปรเวทระบุว่า “ขอโทษที่วันนั้นพี่รู้และเข้าใจได้แค่นั้น วันนี้สู้ๆนะเด็กๆ”

อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกมาตอบโต้ความคิดเห็นของ ผศ.ดร.อานนท์ ว่า การใช้คำพูดส่อเสียด เช่น “แก้ผ้ามาเรียน ..” ถือเป็นการนำเพศมาเป็นเครื่องมือในการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งโดยเฉพาะต่อผู้หญิงและเด็กหญิง อันเป็นการใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชังโดยใช้เพศเป็นเครื่องมือ ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงอันเกี่ยวกับเพศสภาพได้ การแสดงความคิดเห็นของบุคคลถือเสรีภาพ แต่การแสดงความคิดเห็นที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น โดยเฉพาะการใช้เพศเป็นเครื่องมือเพื่อโจมตีหรือเพื่อสร้างความเกลียดชัง ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการกระทำที่น่าละอายอย่างยิ่ง

แม้แต่อดีตนักการเมืองอย่างชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นด้วยว่า

ผมไม่เข้าใจว่าชุดนักเรียนกับทรงผม มันไปเกี่ยวพันอะไรกับสมองของนักเรียน ถ้าใส่ชุดนักเรียนแล้วช่วยให้เรียนหนังสือได้ดีขึ้น ก็น่าสนับสนุนให้ใส่อยู่หรอก แต่ผมว่าใส่ชุดอะไรไปเรียนก็ได้ แล้วมีสมองที่จะรับเนื้อหาที่ครูสอน จะดีกว่าไหม

อย่างน้อย คงจะดีกว่าคนที่เป็นถึงผู้ช่วยศาสตราจารย์ เป็นดอกเตอร์ เป็นครูบาอาจารย์แท้ๆ แต่ดันแนะนำให้นักเรียนแก้ผ้าไปโรงเรียน อาจารย์แบบนี้แหละครับ ที่ทำให้ลูกศิษย์มันไปไม่ถึงดวงดาว ความเชื่อ กับ ความจริง มันต่างกันครับ สักวันนึงผมจะกลับมาพูดให้ฟัง ว่ามันต่างกันยังไง

‘นักเรียนเลว’ ไปศึกษาธิการ ขอคืนชุดนักเรียนให้กระทรวงฯ

กลุ่มนักเรียนเลว ได้ประกาศให้นักเรียนมารวมตัวกันหน้ากระทรวงศึกษาธิการในเวลา 16.00 น.ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากแคมเปญชุดไปรเวทเมื่อช่วงเช้า โดยมีนักเรียนจากหลายโรงเรียนเข้าร่วมกันเป็นจำนวนมาก

จากนั้น แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว กล่าวว่า เราไม่ได้ให้ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน แต่ต้องการยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบ เปิดกว้างให้นักเรียนทุกคนสามารถเลือกสวมใส่เสื้อผ้าได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นชุดนักเรียนหรือชุดไปรเวต เด็กจะสามารถเลือกใส่ชุดอะไรก็ได้ที่ถูกกาลเทศะ

ผู้ชุมนุมนำโต๊ะนักเรียนมาจัดเวที และประกาศให้ผู้ร่วมชุมนุมย้ายมาชุมนุมบริเวณทางเข้ากระทรวงศึกษาธิการ จากนั้นจัดกิจกรรมนำชุดนักเรียนมาคืนกระทรวง พร้อมบอกรายละเอียดว่า แต่ละอย่างผู้ปกครองและนักเรียนนั้นต้องรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนเท่าใด และสิ่งเหล่านี้ลดความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่ และติดป้ายระบุข้อความว่า “ชุดนักเรียนไม่ปลอดภัย”

นอกจากนี้ ยังมีการถือธงสีรุ้งสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศผืนยาว ให้นักเรียนช่วยกันถือและเดินไปคลุมล้อมกระทรวงเพื่อแสดงถึงการเปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลาย

ด้านนายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า นายอัมพร พินะสา เลขาธิการกพฐ. มอบมหายให้ตนมารับฟังข้อเรียกร้องขอนักเรียน เพื่อนำข้อเรียกร้องไปพิจารณา และนายอัมพร เน้นย้ำว่าโรงเรียนจะต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยกับนักเรียน

ทางกลุ่มนักเรียนยังมีการแสดงเต้นประกอบเพลง “นักเรียนลุยไฟ” ซึ่งเป็นแนวเดียวกับ “เพลงสีดาลุยไฟ” ที่กลุ่มผู้หญิงปลดแอกใช้แสดงถึงการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิง แต่มาคราวนี้ได้ปรับเนื้อหาให้เป็นการสะท้อนปัญหาการละเมิดสิทธิของนักเรียนที่เกิดขึ้นในโรงเรียน โดยเต้นเป็นจังหวะกันอยู่หน้ากระทรวงฯ

ทั้งนี้ กิจกรรมสิ้นสุดลงในเวลา 18.30 น.