“ธัญวัจน์” ชวนคิด ชุดนักเรียนเป็นมากกว่าเสื้อผ้า แต่หมายถึงโครงสร้างอำนาจกดเด็กไร้ตัวตน

วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มนักเรียนใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนวันนี้ ซึ่งจากปรากฎการณ์ดังกล่าว มีความคิดเห็นออกมามากมาย ถึงความเหมาะสมรวมไปถึงมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแสดงความคิดเห็นว่า แก้ผ้าไปโรงเรียนเถิดหนู ก่อนอื่นอยากชวนสังคมทำความเข้าใจว่า โรงเรียนคือสถานที่จำลองของสังคม ซึ่งสังคมทุกสังมีกฎระเบียบร่วมกันอยู่แล้ว แต่สังคมที่ดีควรมีการเปิดรับฟังตวามคิดเห็นอย่างไร้อคติ วันนี้ตนไม่ได้บอกว่าการใส่ชุดไปรเวทถูกหรือผิด เรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันอย่างเปิดกว้างเพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม อย่าเพิ่งตัดสินว่าสิ่งที่เขาต้องการหรือเรียกร้องเป็นเรื่องผิดเพียงเพราะไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในอดีต วันนี้โลกพัฒนาไปไกลมากแล้ว สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องทำคือการเปิดกว้างรับฟังและปรับตัว อย่าเอาควาเชื่อในอดีตมาฉุดรั้งอนาคต

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเปิดกว้างให้ทุกคนที่ต้องใช้กฎเกณฑ์มีส่วนร่วมในการออกแบบสังคมที่เขาอาศัย เรื่องดังกล่าวนักเรียนสามารถมีส่วนร่วม ไม่ใช่ตกอยู่ในอำนาจนิยมที่ต้องแต่งตัวตามคำสั่ง ของผู้มีอำนาจ การเปิดโอกาสให้นักเรียนแต่งตัวตามความต้องการคือการยอมรับความหลากหลายที่มีอยูในสังคม บังคับใช้กฎระเบียบด้วยความเต็มใจไม่ใช่การบังคับ

นอกจากนี้มีความ คิดเห็น ของผู้ใหญ่ว่าเด็กนักเรียนว่าไม่เห็นคุณค่าของชุดนักเรียน อีกหน่อยโตขึ้นจะคิดถึงชุดนักเรียน ก็เป็นเสรีภาพที่แต่ละท่านจะแสดงความคิดเห็น แต่วันนี้คำถามคือ ใครสนใจใส่ใจถึงเสรีภาพของนักเรียนบ้าง

รวมไปถึงในสังคมออนไลน์ได้โต้แย้งในประเด็นการใส่ชุดนักเรียนลดความเหลื่อมล้ำ การใส่ชุดไปรเวทเด็กนักเรียนจะแข่งกันแต่งตัว ติดแบรนด์เนมกลุ่มคนที่พูดแบบนี้ก็คงไม่ได้อ่านข่าว พ่อ แม่ ต้องไปขโมยชุดนักเรียน รองเท้านักเรียน

ตามห้างเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด สิ่งนี้ชี้ให้เห็นแล้วว่า เมื่อสุดปลายทางของเหตุผลแล้ว ชุดนักเรียนคือภาระ ไม่ใช่สิ่งจำเป็น

เพราะนักเรียนสามารถใส่ชุดที่มีอยู่แล้ว ชุดนักเรียนนั้นไม่ใช่แค่เสื้อผ้าที่สวมใส่ แต่มันคือโครงสร้างอำนาจนิยมที่ทำให้เด็กไร้ตัวตน ช่วงเวลาสำคัญของเด็กเยาวชนที่เป็นช่วงเวลาประกอบสร้างความเป็นตัวตน เพื่อการเรียนรู้สังคม สู่ความคิดสร้างสรรค์ กลับถูกล้อมกรอบด้วยเสื้อผ้า ทรงผม และการเข้าแถวยืนตากแดด ไม่มีพื้นที่การแสดงตัวตน ทำได้เพียงรับฟังคำสั่งเพื่อให้รับรางวัลคำชื่นชมว่าเป็น “เด็กดี” ตนคิดว่ามันถึงเวลาที่ต้องมีการปรับตัวง เพราะเด็กวันนี้คือยุคที่ข้อมูลเปิดกว้างเด็กเยาวชนเรียนรู้โลกที่กว้างใหญ่ ต่างจากคน Gen X Y

หากวัฒนธรรมที่เป็นอำนาจนิยมไม่ปรับเปลี่ยน เราก็กำลังสร้างอุปสรรคการเติบโตต่อยอดการเรียนรู้ทางความคิด สร้างสรรค์ ที่เริ่มมาจากเด็กถึงเวลาที่ผู้ใหญ่ต้องรับฟัง

มองพวกเขาอย่างเข้าใจ และควรดีใจว่าเด็กไทยพร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นพลเมืองโลกซึ่งเป็นผลดีต่อประเทศไม่ใช่หรือ

ทั้งนี้ ธัญวัจน์กล่าวว่า ท้ายที่สุดเชื่อว่าการพูดคุยรับฟังเป็นเรื่องที่ดี คุณครูรวมถึงผู้ใหญ่ ควรเริ่มพูดคุยเริ่มพูดคุยในการแต่งตัวของเขา เพิ่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นรวมถึงเปิดพื้นที่บางวันให้เขาได้แสดงออกด้านการแต่งตัว ได้เป็นตัวเอง ให้เขารู้สึกมี “ตัวตน” ไม่ใช่ “ไร้ตัวตน” ในชุดนักเรียน