‘ณัฏฐพล’ ชี้อย่านำทรงผม-เครื่องแบบ มากดดัน ย้ำต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาก่อน

‘ณัฏฐพล’ ชี้อย่านำทรงผม-เครื่องแบบ มากดดัน ย้ำต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาก่อน

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีกรณีนักเรียนกลุ่มหนึ่งมีการเชิญชวนให้แต่งไปรเวต วันที่ 1 ธันวาคม เพื่อแสดงสัญลักษณ์ถึงความต้องการเสรีภาพ ว่า หากครูพบนักเรียนแต่งชุดไปรเวตแล้วห้ามเด็กเข้าเรียนคงไม่ได้ เพราะศธ.กำหนดระเบียบไว้ชัดเจนแล้ว ถ้านักเรียนไม่สามารถทำตามระเบียบได้ควรทำอย่างไร เช่น ขั้นแรกต้องพูดคุยกับนักเรียน ขั้นต่อมาคือจะสอบถามผู้ปกครอง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทุกๆปัญหาที่นักเรียนยกเป็นประเด็นขึ้นมา ศธ.มีกระบวนการรับฟังและหาทางแก้ไขให้เหมาะสม ผ่านคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งทางคณะกรรมการพิจารณาฯ ได้เสนอให้ศธ.แนวทางแก้ไขระเบียบในเรื่องต่างๆ แล้ว แต่ยังขาดการรับฟังจากผู้ปฏิบัติหน้าที่ว่าจะสามารถทำได้จริงตามข้อเสนอแนะได้หรือไม่

“การแสดงออกครั้งนี้ เหมือนกับกดดันให้เราต้องตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง ซึ่งผมคงไม่ตัดสินใจโดยที่มีความกดดันจากภาคสังคม ผมตัดสินใจบนพื้นฐานความถูกต้อง และความเหมาะสมกับระยะเวละข้อมูลที่มีอยู่ รวมทั้งความพร้อมของผู้ปฏิบัติในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ ฉะนั้น ขอให้ทุกคนเข้าใจด้วย หวังว่าน้องๆทุกคนที่รับข้อมูลอย่างมีความเข้าใจที่ดีว่า จะเข้าใจว่าอีกไม่นาน ศธ.จะหาแนวทางแก้ปัญหา และผมมั่นใจว่าทุกแนวทางที่เราแก้ไขปัญหา คงไม่ถูกใจทุกคน เราต้องความเข้าใจว่าเราอยู่ในสังคมที่ใหญ่ เราไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของทุกคนได้ โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ ที่ต้องนึกถึงนักเรียน ผู้ปกครองทั่วทั้งประเทศ หากเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงผลรอบด้าน จะเป็นปัญหาระยะยาว และจะเป็นเรื่องที่เราไม่ควรมานั่งแก้ไขในขณะที่การศึกษามีหลายเรื่องที่เป็นประเด็นแก้ไขเป็นอันดับต้นๆ ผมไม่อยากพูดว่าผมหรือเครื่องแต่งกายเป็นเรื่องของแฟชั่น แต่เรากลับเอาเรื่องผมและเครื่องแต่งกายมากดดันก่อนเรื่องคุณภาพการศึกษา หลักสูตรการศึกษาที่เป็นปัญหาหลักของการศึกษา” นายณัฏฐพล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายคนบอกว่าชุดนักเรียนแพงเกินไป แต่ในความจริงแล้วชุดนักเรียนอยู่ในงบอุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐอยู่แล้วใช่หรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า รัฐบาลพยายามสนับสนุนเรื่องแบบนักเรียน แต่อาจจะไม่ได้เนื้อผ้าที่ทุกคนพอใจ อาจจะลงทุนเพิ่มเติมบ้าง แต่จะมีเด็กในประเทศเป็นล้านคนที่ใช้งบประมาณจากรัฐซื้อเครื่องแบบนักเรียนได้ ทั้งนี้ตนไม่ได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองเลยว่าเครื่องแบบนักเรียนจะเป็นปัญหาทำให้ภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวได้รับผลกระทบ การแต่งชุดไปรเวตอาจจะทำให้มีผลกระทบในระยะยาว เช่น นักเรียนอาจจะมองว่าเสื้อผ้าของตนสกปรก เทียบกับเพื่อนไม่ได้ เป็นต้น ฉะนั้นตนหวังว่านักเรียนจะเข้าใจในการวางมาตรฐานเครื่องแบบนักเรียนของ ศธ.

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์รายปี ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่