สุทิน เผย ไม่ทราบเหตุผล ‘หญิงหน่อย’ ลาออก หวังคำวินิจฉัย 2 ธ.ค. ทุกฝ่ายรับได้

สุทิน เผย ไม่ทราบเหตุผล ‘หญิงหน่อย’ ลาออก หวังคำวินิจฉัย 2 ธ.ค. ทุกฝ่ายรับได้

วันที่ 1 ธันวาคม ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และแกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยหลายคน ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ว่า ยังไม่ทราบเหตุผลการตัดสินใจในครั้งนี้ และไม่ทราบว่าบุคคลที่ลาออกไปนั้นจะมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาหรือไม่ โดยตอนนี้ที่มีความชัดเจนคือ การแยกกันทำงาน แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่า การแยกกันทำงานครั้งนี้เป็นปัจจัยจากรัฐธรรมนูญ หรือเป็นยุทธศาสตร์หรือมีปัญหาสั่นคลอนในพรรคเพื่อไทย โดยสามารถมองได้ทั้ง 2 แบบ แต่คิดว่ากลุ่มคนที่ลาออกไปยังคงมีอุดมการณ์เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย เพียงแต่อาจมีวิธีการทำงานที่ต่างกัน

ส่วนกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ที่เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีลาออกไป พรรคเพื่อไทยจะสามารถรองรับสถานการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยคดีบ้านพักทหาร ของนายกรัฐมนตรีที่อาจเกี่ยวพันกับสถานะของนายกรัฐมนตรีนั้น นายสุทิน กล่าวว่า ยังมีข้อสงสัยในข้อกฎหมายว่าเมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ ลาออกจากสมาชิกพรรคจะยังคงอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคยื่นไว้ต่อ กกต. หรือไม่ แต่หากเทียบเคียงกรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ จึงคาดว่า คุณหญิงสุดารัตน์น่าจะยังคงอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เตรียมพร้อมสถานการณ์การอ่านคำวินิจฉัยพรุ่งนี้ (2 ธันวาคม) แต่เป็นกังวล ผลที่จะเกิดจากคำวินิจฉัย โดยหวังว่าคำวินิจฉัยที่ออกมาจะมีเหตุผลทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้

นายสุทุน ยังกล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประชามติว่า ยังมีปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าร่างกฎหมายดังกล่าว เข้าข่ายการปฏิรูปประเทศจึงเสนอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ดังนั้น จะรอฟังคำชี้แจงจากผู้เสนอร่างว่า เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศอย่างไร แต่เบื้องต้นสันนิษฐานว่า รัฐบาลต้องการให้ทางกฎหมายผ่านโดยเร็ว เพื่อรองรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรืออยากให้ผ่านโดยเร็วเพราะมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่ได้เปิดกว้างให้รณรงค์หรือแสดงความคิดเห็น รวมถึงรัฐบาลก็มีเสียงมากกว่าในที่ประชุมร่วมรัฐสภา

ขณะที่ ร่างพ.ร.บ. ประชามติของฝ่ายค้าน จะเสนอไปที่สภาผู้แทนราษฏร แต่ติดปัญหาว่าจะเข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ ทำให้ต้องรอให้นายกรัฐมนตรีเซ็นต์รับรองเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร จึงส่งผลให้เกิดปัญหาว่าร่างกฎหมายฉบับเดียวกันแต่เสนอแยกให้พิจารณาสองสภา หากผ่านการพิจารณาต้องตั้งกรรมาธิการแยก 2 คณะ ซึ่งจะทำให้เกิดความวุ่นวายซับซ้อน อันเป็นผลจากรัฐธรรมนูญที่ไม่บัญญัติเรื่องประเภทกฎหมายให้ชัดว่าควรเข้าสู่การพิจารณาของสภาใด

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์รายปี ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่