สพฐ.ชี้ น.ร.แต่งไปรเวตเป็นสิทธิ แต่ผิดระเบียบ ย้ำลงโทษตามกฎ

สพฐ.ชี้ น.ร.แต่งไปรเวตเป็นสิทธิ แต่ผิดระเบียบ ย้ำลงโทษตามกฎ

สพฐ.ชี้ น.ร.แต่งไปรเวตเป็นสิทธิ แต่ผิดระเบียบ ย้ำลงโทษตามกฎ ครูทำเกินกว่าเหตุมีความผิดด้วย  

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน นายอัมพร  พินะสา  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า กรณีนักเรียนกลุ่มหนึ่งมีการเชิญชวนให้แต่งไปรเวต วันที่ 1 ธันวาคมนั้น ตนได้ทำความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียนที่ได้มีการเชิญชวนให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวตแล้ว ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการศึกษาของโรงเรียน ต้องยึดการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเครื่องมือในการทำงาน มีทั้ง พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 เข้าใจว่าเจตนารมณ์ของการมีกฎหมายและระเบียบดังกล่าว ไม่ได้ต้องการลิดรอนสิทธิของนักเรียน แต่เพื่อต้องการให้ความปลอดภัยกับนักเรียน ถ้านักเรียนไม่ใส่ชุดนักเรียน  ผู้ใหญ่จะดูแลเด็ก หรือแม้แต่ถ้าใส่ชุดนักเรียนขึ้นรถเมล์ก็จะได้ลดครึ่งราคา ผู้ใหญ่ลุกให้เด็กนั่ง หรือแม้แต่นักเรียนเอง หากเห็นผู้สูงอายุขึ้นรถเมล์มา ก็จะได้ลุกให้นั่ง เป็นการแสดงคุณธรรมที่มีความเอื้ออาทร

นายอัมพรกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในการสร้างคนให้มีระเบียบวินัยต้องสร้างจากการใช้ชีวิตประจำวัน เรื่องแต่งกายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งในการสร้างระเบียบวินัย และประการสุดท้าย การมีชุดนักเรียนจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อีกทางหนึ่ง เพราะการแต่งชุดนักเรียนเหมือนกันทั้งหมด จะไม่เกิดปัญหา เพราะถ้าเพื่อนบางคนมีฐานะ หากไม่กำหนดระเบียบเอาไว้ อาจจะไปใส่ไปรเวตมียี่ห้อ คนที่ไม่มีก็พยายามจะหาให้มีเหมือนเพื่อน เป็นความเหลื่อมล้ำอีกแนวทางหนึ่ง ขณะที่น้องๆ เรียกร้องใส่ไปรเวต แต่สังคมทั่วไป อย่างบริษัทเอกชน พนักงานโรงงาน หรือกระทั่งกลุ่มคนที่กิจกรรมเพื่อสังคม กลับเรียกร้องหาชุดยูนิฟอร์ม เพื่อต้องการสื่อว่าความเป็นทีม ให้เป็นอัตลักษณ์ การให้แต่งเครื่องแบบนักเรียนไม่ได้มีเจตนา ที่จะลิดรอนสิทธินักเรียน แต่มุ่งที่จะดูแลคุ้มครองนักเรียน เป็นกลไกในการฝึกความมีระเบียบวินัย ทุกประเทศ หรือแม้แต่ระดับครอบครัว ต้องมีกติกาการอยู่ร่วมกัน ฉะนั้นโรงเรียนก็ต้องมีกติกากลาง ให้คนรู้ว่า ทำอะไรได้ หรือไม่ได้ เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันได้

“ส่วนนี้น้องๆ กลุ่มหนึ่งมาเรียกร้องให้ใส่ชุดไปรเวตมาโรงเรียนถือเป็นสิทธิ  ส่วนตัวมองว่า การคิดต่างไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่วิธีการต้องถูกต้อง เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นจากระเบียบและกฎหมาย หากอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องนำสู่กระบวนการแก้ไข ซึ่งต้องเป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ ตรงนี้คือกระบวนการที่ชอบและถูกต้อง แต่ครั้งนี้เป็นการเชิญชวนในระหว่างที่ระเบียบยังไม่ได้รับการแก้ไข เท่ากับเชิญชวนให้น้องๆ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกติกา ซึ่งผมมีความเชื่อว่า น้องๆ มีวิจารณญาณในการที่จะไตรีตรองว่า จะปฏิบัติตามระเบียบ หรือคำเชิญชวน หากได้ใช้วินิจฉัยแล้วก็คงจะปฏิบัติตามระเบียบ เพราะถ้าไม่ปฏิบัติก็จะถือว่ามีความบกพร่องอาจส่งผลกระทบต่อคะแนนความประพฤติ สพฐ.เองไม่ได้ละเลยต่อเสียงเรียกร้องของน้อง ๆ ปัจจุบันนี้ก็เปิดกว้าง ไม่ได้ให้แต่งชุดนักเรียนทุกวัน มีบางโรงเรียนกำหนดให้แต่งชุดประจำถิ่นหรือ ชุดกีฬา ได้เป็นต้น  ”นายอัมพรกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า วันที่ 1 ธันวาคมนี้ ถ้าเด็กแต่งไปเวทมาโรงเรียน จะได้เข้าเรียนหรือไม่ นายอัมพร กล่าวว่า การแต่งไปรเวทมาเรียน ต้องูที่เจตนา ครูคงไม่ไปลงโทษแบบเหมาเข่ง เพราะบางคนอาจมีความจำเป็นเช่น มีชุดนักเรียนชุดเดียว แต่เกิดเปียกไม่สามารถใส่มาเรียนได้ ก็ต้องใส่ไปรเวทมาเรียน ซึ่งดีกว่าเด็กไม่มาโรงเรียน ทั้งนี้ ไม่ว่าเด็กจะแต่งกายอย่างไรก็มีสิทธิจะเข้าเรียนตามปกติ แต่ก็ต้องสอบถามเหตุผลการไม่ใส่ชุดนักเรียนมาเรียนเพื่อทำความเข้าใจ และหากมีโทษก็ต้องทำตามระเบียบ  ขณะเดียวกันตนอยากให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมหาแนวทางพูดคุยกับเด็กด้วย

ถามต่อว่า กรณีเด็กตั้งใจแต่งไปรเวท จะถูกลงโทษอย่างไร นายอัมพรกล่าวว่า การไม่ปฏิบติตามระเบียบของนักเรียนมีเป็นปกติ ไม่ว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ครูคงไม่มองเด็กที่ทำผิดระเบียบเป็นโจรผู้ร้าย แต่ต้องชี้ให้เห็นว่า เขาทำผิดระเบียบอย่างไร และคงไม่เป็นประเด็นว่า ครูหรือโรงเรียนไปหมายหัวเด็ก คงเป็นการปฏิบัติต่อนักเรียนด้วยความเอื้ออาทร ส่วนครูรายใดไปลงโทษนักเรียนเกินกว่า เหตุ ไม่เป็นไปตามระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการลงโทษนักเรียน ก็ถือว่ามีความผิด เพราะไม่ว่าจะเป็นครู หรือนักเรียนก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบเช่นเดียวกัน

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์รายปี ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่