‘นักสิทธิมนุษยชน’ จี้ ปฏิรูปกองทัพ ฉะ หน้าที่เดียว ของทหาร ‘ปกป้องประเทศ’ ไม่ใช่รบกับ ‘ประชาชน’

‘นักสิทธิมนุษยชน’ จี้ ปฏิรูปกองทัพ ฉะ หน้าที่เดียว ของทหาร ‘ปกป้องประเทศ’ ไม่ใช่รบกับ ‘ประชาชน’

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่บริเวณ สถานีรถไฟฟ้า BTS ใกล้กับวัดพระศรีมหาธาตุราชวรวิหาร แขวงอนุสาวรีย์ เขต บางเขน กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ภายหลังประกาศเปลี่ยนแปลงสถานที่นัดหมาย จาก กรมทหารราบที่ 1 ไปยังวัดพระศรีมหาธาตุฯ ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยัง กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลา 18.00 น. โดยประชาชนทยอยเดินทางมารวมตัวกันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทีมการ์ดกระจายกำลังดูแลความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุมรอบบริเวณ

เวลา 19.52 น. ราษฎรหญิง ตัวแทนนักสิทธิมนุษยชน กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกอย่าง มีหลักฐาน อีกเรื่องที่ต้องเน้นย้ำ คือการปฏิรูปกองทัพ เพราะทำให้สังคมไทยไม่ไปข้างหน้าต่าง เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยไทยอย่างร้ายแรง ปี 2557 มีการรัฐประหาร ครั้งล่าสุดที่สำเร็จ เป็นครั้งที่ 13 คือปัญหาที่ต้องพูด เพราะกองทัพใช้อำนาจในการต่อต้านประชาธิปไตย เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้งบประมาณจำนวน 1 หมื่นล้าน ไปทำปฏิบัติการข่าวสาร ต่อต้านประชาชน

“ขอให้ช่วยกันติดตาม การผลาญงบประมาณ ของ กอ.รอน. มีปฏิบัติการภาคใต้ และ ปฏิบัติการภัยความมั่นคง ทหารมีหน้าที่เดียว คือปกป้องประเทศ จากบุคคลภายนอก แต่นี่คืออะไร รบกับประชาชนของตัวเอง อีกหนึ่งข้อที่ต้องเน้นย้ำ คือยุบ กอ.รมน. องค์กรนี้ คือเศษสวะ ต้องเอาออกไป เงินเดือนจากเรา มาไล่ตบตีเรา ไม่ถูกต้องวางโล่ วางมือถือ และจอมอนิเตอร์ ที่ใช้โจมตีประชาชน แล้วเราจะชนะไปด้วยกัน”

ตัวแทนนักสิทธิมนุษยชน ยังพูดถึงการนำมาตรา 112 กลับมาใช้ ด้วยว่า มีผู้รายงานพิเศษของ สหประชาชาติ บอกว่า ในประเทศประชาธิปไตย กฎหมายลักษณะนี้ควรจะต้องถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ไทยเพิ่งมีการแก้ เมื่อปี 2519 หลังมีการสังหารนักศึกษา จากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็มีการแก้ไขโทษของกฎหมาย มาเป็นโทษสูงสุด 15 ปี ซึ่งไม่เป็นธรรม และไม่ควรนำมาใช้ในประเทศประชาธิปไตยด้วยซ้ำ กฎหมายนี้มีปัญหา และต้องถูกยกเลิก กี่คนแล้ว ที่โดนฟ้องด้วยกฎหมายนี้

“ประเด็นสุดท้ายที่อยากฝาก คือ เรามี พ.ร.บ.ชุมนุม ที่ไม่ได้มาตรฐานกับหลักสากล ตำรวจมีคู่มือที่ไม่เป็นสากล ไม่เป็นไปตามข้อบังคับ ของ พ.ร.บ.การชุมนุม ซึ่งขัดต่อกฎหมายใหญ่ และอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่รู้สึกละอายบ้างหรือ ฝากสื่อติดตามเรื่องนี้ด้วย เพราะเสรีภาพการชุมนุม คือเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ไม่เป็นประลาธิปไตย และทุเรศ ยิ่งใช้ ประเทศไทยยิ่งดูแย่ในสายตาประชาคมโลก” ตัวแทนนักสิทธิมนุษยชน กล่าว

จากนั้น มวลชนตะโกน ยกเลิก ม.112

เวลา 20.07 น  แอม บัณฑิต ม.ศิลปากร กล่าวว่า ขอให้ทหารออกจากพื้นที่ชุมนุม โดยมวลชนตะโกน “ทหารออกไป”