‘ชลน่าน’ ปัดเกเร นับองค์ประชุม โวยเสียงข้างมากปิดกั้น ทำคนไม่เห็นสภาเป็นที่พึ่งอีกแล้ว

“หมอชลน่าน” ชี้หาก “ฝ่ายค้าน” ไม่ร่วมสังฆกรรม ต้องวอล์กเอาต์ ยันไม่เกเร ซัดสภา พังมานาน ส่วนใหญ่มองสภาไม่ใช่ที่หวังอีกต่อไป

เมื่อเวลา 11.45 น.วันที่ 26 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย แถลงว่า ญัตติด่วนประเด็นการชุมนุมที่ตนเสนอด้วยวาจาเข้าที่ประชุมสภาในวันนี้ เพื่อให้สภาช่วยหาทางออกและหามาตรการดูแลควบคุมฝูงชน ซึ่งฝ่ายรัฐบาลได้เสนอญัตติประกบว่าให้พิจารณาไปตามระเบียบวาระ เมื่อมีสองญัตติก็ต้องมีการลงคะแนน เสียงข้างมากลงคะแนน 217 คะแนนว่าใ ห้ประชุมไปตามระเบียบวาระนั้นคือการปฏิเสธไม่เอาญัตติด่วนที่มีความสำคัญที่เราจะหาทางออกร่วมกันในการอภิปราย เสนอแนะและส่งให้รัฐบาลดำเนินการด่วน แต่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลกลับปฏิเสธโดยใช้เสียงข้างมากปิดกั้น แต่ฝ่ายค้านมีเพียง 124 เสียง ซึ่งไม่เพียงพอ ทั้งนี้ มาตรการของฝ่ายค้านถ้าเราจะไม่ร่วมสังฆกรรมก็จะใช้วิธีการวอล์กเอาต์ แต่การประชุมยังคงดำเนินการต่อไปได้ ถ้ารัฐบาลมีเสียงข้างมากที่จะประชุมต่อได้ องค์ประชุมจะต้องเกินกึ่งหนึ่งคือมากกว่า 250 เสียง นี่เป็นมาตรการที่ฝ่ายค้านจำเป็นต้องใช้ หากไม่ใช้มาตรการนี้เสียงข้างมากที่เสียบบัตรเป็นองค์ประชุม เราก็ไม่มั่นใจว่าจะเป็นองค์ประชุมที่แท้จริงหรือไม่ ดังนั้นการนับคะแนนโดยการขานชื่อจึงเป็นวิธีที่ใช้ตรวจสอบ

“ขอย้ำว่าเป็นความจำเป็น และเราไม่ได้เกเร ซึ่งเป็นมาตรการที่เสียงข้างน้อยจำเป็นต้องใช้ หากมีเสียงข้างมากจริงก็ดำเนินการไปตามระเบียบวาระต่อไป” นพ.ชลน่านกล่าว และว่า สภาควรเป็นที่พึ่งและหาทางออกให้กับประเทศได้ แต่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลกลับปฏิเสธมาตลอด ตั้งแต่เรื่องรับร่างรัฐธรรมนูญตัดโอกาสทิ้งแล้วก่อวิกฤต มาครั้งนี้แทนที่จะแก้ตัวกลับมองไม่เห็น จึงจำเป็นต้องใช้วิธีนี้ ยืนยันว่า เราเป็นห่วงบ้านเมือง และห่วงลูกหลานของเรา ในเมื่อมีเหตุการณ์ที่ส่อความรุนแรง แต่สภาไม่พูดอะไรเลย มันเป็นการละเว้นหน้าที่ที่พึ่งกระทำ

เมื่อถามว่า ที่ใช้วิธีการขานชื่อ เพราะเห็นว่ามีการเสียบบัตรแทนกันใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า นี่คือวิธีการตรวจสอบองค์ประชุม จะใช้การเสียบบัตรก็ได้ แต่เราใช้กรณีที่เราต้องการตรวจสอบว่า 217 คะแนนที่มีอยู่ เรามั่นใจว่าถ้าฝ่ายค้านวอล์กเอาต์ 217 เสียงก็ไม่ใช่องค์ประชุมที่จะสามารถประชุมต่อได้ เรื่องเสียบบัตรแทนกันหรือไม่ ตนไม่ขอกล่าวหา แต่ตัวเลขที่ขึ้นมา 217 เสียง หมายความว่า เฉพาะฝ่ายรัฐบาลองค์ประชุมก็ไม่ครบอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า เหตุผลอะไรที่คิดว่า ฝ่ายรัฐบาลจะไม่ให้ความร่วมมือ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราประเมินวิธีคิดของฝ่ายรัฐบาลได้ค่อนข้างยาก แต่การแสดงออก และการกระทำของรัฐบาลที่ผ่านมา ขนาดเรื่องที่หนักที่สุดอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญเขายังไม่รับ ดังนั้น นี่คงเป็นวิธีการปกป้องผู้มีอำนาจที่เขายึดโยงในฐานะที่เป็นรัฐบาล ตนเข้าใจว่าอะไรก็ตามที่จะไปกระทบฝ่ายบริหารเขาต้องปกป้องไว้ก่อน ตนคิดว่าพวกเขาคิดแค่นี้ คิดแค่ปกป้องตัวเองกับผู้มีอำนาจ นี่คือข้อสันนิษฐาน

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยขึ้น สุดท้ายแล้วสภาจะไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า “สภาพังมานานแล้ว เราพยายามทำทุกเรื่องเพื่อให้เป็นที่พึ่งหวังของประชาชน แต่สิ่งที่เราทำไปด้วยบทบาทเสียงข้างน้อยไม่เคยได้รับการตอบรับจากเสียงข้างมากและผู้นำความคิดเห็นของสภาไปสู่การปฏิบัติ ไม่ว่าจะรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้น ไม่แปลกที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าสภาไม่ใช่ที่หวังอีกต่อไป สังเกตจากที่ผู้ชุมนุมข้ามเรื่องรัฐธรรมนูญไปแล้ว เพราะสิ้นหวัง นี่เป็นเหตุที่ทำให้สภาเสื่อม เราเสียงข้างน้อยพยายามปกป้องสภาว่ายังเป็นประโยชน์ แม้จะไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างน้อยก็ได้เสนอวิธีการแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องการถ่วงดุลอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการที่มีความบิดเบี้ยว เราพยายามที่สุดแล้ว”