‘บีบีซี’ เปิดโผ 100 สตรีผู้ทรงอิทธิพล-สร้างแรงบันดาลใจ ปี 2020 “ปนัสยา-กชกร-ซินดี้” ของไทยติดด้วย

ที่มา : ฺBBC

สำนักข่าว บีบีซี ได้เปิดชื่อ 100 ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งปรากฎตัวในฐานะผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงและจุดประกายให้กับผู้คนในช่วงเวลาอันแปรปรวนที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2020 นี้

โดยการจัด 100 ผู้หญิงผู้ทรงอิทธิพลนี้ บีบีซีสรุปรายชื่อโดยอิงจากรายชื่อที่มีการรวบรวมและแนะนำโดยทีมงานของ BBC World Service ที่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฟ้นหาผู้ได้รับการเสนอเชื่อจากการเป็นข่าวพาดหัวหรือเรื่องราวที่ส่งผลมีอิทธิพลอย่างสำคัญในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ตลอดจนผู้ที่มีเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจในการบอกเล่าประสบความสำเร็จในสิ่งที่สำคัญหรือมีอิทธิพลต่อสังคมของพวกเขาในรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องเป็นข่าว

โดย 100 คนที่ได้รับการเลือกนี้ จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้จุดประกายความรู้ ผู้นำทรงอิทธิพล ผู้ก่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ และนักสู้ปกป้องอัตลักษณ์ ทั้งนี้ บีบีซี วีเมน ได้เว้นที่สำหรับ 1 คนให้กับ “วีรสตรีผู้ไร้การเชิดชู” (Unsung Heroes) แก่สตรีล้านคนทั่วโลกที่เสียสละทุ่มเทสร้างความเปลี่ยนแปลงและเรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อมากมายให้กับโลกใบนี้

สำหรับ 100 สตรีผู้ทรงอิทธิพลที่ทางบีบีซีคัดเลือกและได้รับการเสนอชื่อ มีบุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงมากมาย อาทิ แอกเนส โจว (โจวถิง) นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกงที่ร่วมขบวนกับโจชัว หว่องและเนธาน ลอว์, ฟ่าน ฟาน นักเขียนชาวจีนที่ตีแผ่เรื่องราวอันดำมืดที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในช่วงการปิดเมืองอู่ฮั่นระหว่างการระบาดของโควิด-19 จนเป็นที่รับรู้ไปทั่วโลกแต่สำหรับในประเทศเธอถูกมองว่าเป็นคนทรยศ, เจน ฟอนดา นักแสดงฮอลลิวู้ดรุ่นใหญ่ที่ออกมาเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มตัว, ซาร่าห์ กิลเบิร์ต หัวหน้าทีมวิจัยวัคซีนของออกซ์ฟอร์ด เพื่อพัฒนาวัคซีนในการต่อต้านไวรัสโคโรน่า โควิด-19, ซานน่า มาริน นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ที่ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่คนรุ่นใหม่อายุน้อยได้ขึ้นอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญที่สุดของประเทศ และเป็นผู้นำรัฐบาลซึ่งรัฐมนตรีทั้งชุดเป็นผู้หญิง และยังสร้างผลงานในการยับยั้งการระบาดของโควิด-19 จนมีผู้ติดเชื้อน้อยที่สุดในกลุ่มประเทศยุโรป หรือมิเชล โยว นักแสดงชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ที่ได้กลายเป็นทูตสันถวไมตรีของยูเอ็นในการต่อสู้กับความยากจน

ที่มาภาพ : บีบีซีไทย

ขณะที่ไทยเองก็มีสตรี 3 คนติดได้รับเลือกในปีนี้ด้วย ได้แก่ กชกร วรอาคม นักภูมิสถาปนิก ผู้ออกแบบเมืองที่พัฒนาพื้นที่สาธารณะให้ปรับเข้ากับปัญหาโลกร้อน, ซินดี้ สิรินยา บิชอป นักแสดง นางแบบและนักเคลื่อนไหวเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงต่อสตรี และคนสุดท้ายคือ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษาปี 3 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกสำคัญของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ทำการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ได้สร้างความสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อการรับรู้และความเชื่อของสังคมไทย ด้วยการเป็นผู้อ่านประกาศต่อสาธารณชนถึง 10 ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของไทยที่สังคมไทยยึดมั่นในความศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ และกลายเป็นจุดสำคัญของการเมืองไทยในเวลานี้ที่คนรุ่นใหม่และประชาชนได้เคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้อง 3 ข้อคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องยุบสภา, จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สถาบันดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและก้าวพ้นการเมืองได้อย่างสง่างาม

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของรุ้งและแกนนำคณะราษฎรอีกหลายคน ได้สร้างแรงต่อต้านครั้งใหม่จากฝ่ายกษัตริย์นิยมและรัฐบาล จนทำให้ถูกจับกุมในความผิดจากการจัดการชุมนุมและอีกหลายข้อหาที่ถูกใช้เพื่อกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมือง