นพ.ชลน่าน เผยพร้อมนั่งปธ.กมธ.แก้รธน. ซัด “ประยุทธ์” ปิดประตูคุยม็อบ ใช้กม.เข้มเสี่ยงทำสถานการณ์ลุกโชนขึ้น

“หมอชลน่าน” พร้อมรับหากเสนอชื่อนั่ง ปธ.กมธ.แก้ไขรธน. แต่เชื่อ เสียงข้างมากไม่ปล่อย ชี้ ท่าทีนายกฯ เสมือนปิดประตูหันหน้าคุยกัน

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ…. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการเสนอชื่อให้ตัวเองเป็นประธานกมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ถ้าพรรค และฝ่ายค้านเสนอ ตนก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ แต่ตนก็รู้ว่าเสียงข้างมากก็ไม่รับหรอก แต่อย่างไรก็ตาม ตรงนี้เป็นกติกาการเมืองที่ทุกคนมีสิทธิ ซึ่งอยูที่ตัวกมธ.ที่เข้าไปขณะนั้นว่ายึดที่เสียงข้างมาก หรือเสียงข่างน้อยอยู่หรือไม่ แต่หากเขาต้องการคุมประเด็นให้เป็นไปในทิศทางที่เขาต้องการ เขาก็คงไม่ยอมปล่อยให้คนอื่นขึ้นมาเป็นหรอก ทั้งนี้ หาก กมธ.คิดถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนการให้ฝ่ายค้านขึ้นมาทำหน้าที่จะถือเป็นสิ่งที่ดี เพื่อที่จะได้สามารถรวบรวมความต้องการของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชนมาพิจารณาให้ได้มากที่สุด

เมื่อถามว่า ในหาในร่างที่ 3-7 ที่ตกไปเราจะสามารถผลักดันให้ถูกนำมาบรรจุได้หรือไม่ อย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า 1.ตัวกมธ.ต้องหยิบเอามาเสนอในที่ประชุม แต่ประเด็นที่หยิบขึ้นมาเสนอจะต้องอยู่ในหลักการ จะต้องไม่ขัดกับหลักการเดิม 2.สมาชิกที่ไม่ไดเป็นกมธง สามารถยื่นคำแปลญัตติเข้ามายัง กมธ. ได้ 3.แต่ตั้งที่ปรึกษาที่มาจากภาคประชาชน และ 4.ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่าน จะเข้าสู่กระบวนการตั้ง ส.ส.ร. และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดย ส.ส.ร. สามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านที่จะเป็นประเด็นในการถกกันในชั้น กมธ. นพ.ชลน่าน กล่าวว่า แตกต่างกันในรายละเอียดที่ต้องแก้ไขเท่านั้น เช่น ที่มาของ ส.ส.ร. ร่างของรัฐบาล อยากให้มากจาการแต่งตั้ง แต่ร่างของฝ่ายค้าน และความต้องการของภาคประชาชนต้องการให้มาจากการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด ประเด็นต่อมาคือ เรื่องประชามติ โดยรัฐบาลมองว่า เมื่อส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญ แล้วส่งให้สภาพิจารณา เมื่อผ่านสภาแล้วก็นำทูลเกล้าฯ แล้วบังคับใช้ได้เลย แต่ฝ่ายค้านมองว่า เมื่อส.ส.ร.ร. ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้ส่งเรื่องไปที่ประธานสภารับทราบ จากนั้นนำไปเข้ากระบวนการประชามติก่อนประกาศใช้

เมื่อถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญยังสามารถเป็นทางออกให้กับประเทศได้อยู่หรือไม่ เพราะด้านนายกฯเองก็ประกาศใช้กำหมายทุกมาตราในการเอาผิดผู้ชุมนุม นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จริงๆการแก้รัฐธรรมนูญคือทางออกของประเทศทางหนึ่ง และเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม แม้สิ่งที่ภาคประชาชนเสนอขึ้นมาวันนี้จะแก้ไม่ได้ทั้งหมด แต่เราก็ยังมีโอกาสที่จะได้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ท่าทีของนายกฯที่ประกาศใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับผู้ชุมนุม เสมือนเป็นการปิดทางออกที่ทุกคนจะหันหน้าเข้ามาคุยกัน และอาจจะทำให้สถานการณ์ลุกโชนขึ้นไปเรื่อยๆ วันนั้น แม้จะรับแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ก็อาจจะสู้ไม่ได้