ประยุทธ์ยืนยันไม่ลาออก ไม่เคยคุย‘อานนท์’ ลั่นใช้กม.ทุกฉบับ-ไม่ยอมให้ละเมิดสถาบัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่ลาออก ไม่เคยคุย‘อานนท์’ ลั่นไม่ยอมให้ใครมาฝ่าฝืนและทำผิดกฏหมาย โดยเฉพาะการละเมิดสถาบัน

เมื่อเวลา 18.25 น. วันที่ 20 พ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 27 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนการประชุม โดยยืนยันว่า ไม่ได้คิดจะลาออกตามที่นายอานนท์ นำภา แกนนำราษฎร ออกมาโพสต์ข้อความว่านายกรัฐมนตรีจะลาออกก่อนวันที่ 25 พ.ย. และไม่เคยพูดคุยกับคนที่พูด ขอให้เข้าใจว่าคนที่พูดแบบนี้น่าเชื่อถือหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันว่า จะใช้กฎหมายทุกฉบับ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าแถลงการณ์ที่ผ่านมา จะใช้กฎหมายมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า จะไม่ยอมให้ใครมาฝ่าฝืนและทำผิดกฏหมาย โดยเฉพาะการละเมิดสถาบัน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

‘ประยุทธ์’ ประชุมออนไลน์เวทีผู้นำ “เอเปค” ผลักดันฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤต “โควิด” สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล-ธุรกิจรายย่อย เตรียมร่วมรับรองปฏิญญาผู้นำ 2 ฉบับ

ต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 27 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลา 19.00 น. โดยประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าว ขณะที่ผู้ร่วมการประชุม ประกอบด้วย ผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม

สำหรับการประชุมดังกล่าวมีวาระการหารือที่สำคัญหลายประเด็น ทั้งการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของเอเปค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำเอกสารวิสัยทัศน์เอเปคหลังปี 2563 ที่มุ่งส่งเสริมความมั่งคั่งและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ด้วยการส่งเสริมการค้าและการลงทุนเสรี การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี รวมถึงจะหารือถึงการติดตามความคืบหน้าการรับมือและฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (เอ็มเอสเอ็มอี)

ส่วนสิ่งที่ไทยเน้นย้ำการผลักดันในครั้งนี้มีทั้งการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์ทางการค้าเป็นพื้นฐานสำคัญ การส่งเสริมธุรกิจเอ็มเอสเอ็มอี การเสริมสร้างความรู้และทักษะแรงงานในภาคบริการ สตรี และเยาวชน ให้สอดรับกับยุคปกติใหม่ (นิว นอร์มอล) และการทำธุรกิจทางดิจิทัล การเน้นย้ำให้สมาชิกเอเปคร่วมกันส่งเสริมการเข้าถึงยาและวัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นธรรม และมีราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยพร้อมด้วยผู้นำจาก 20 เขตเศรษฐกิจ ร่วมถ่ายภาพหมู่ผ่านระบบการประชุมทางไกลในเวลา 18.55 น. ก่อนจะเข้าสู่พิธีเปิดการประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ 27 ในเวลา 19.00 น. จากนั้นในเวลา เวลา 21.00 น. จะเป็นพิธีปิดการประชุม ซึ่งผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจจะร่วมกันประกาศรับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 (ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์) ปฏิญญาผู้นำว่าด้วยวิสัยทัศน์เอเปคภายหลังปี ค.ศ.2020 เพื่อใช้เป็นแนวทางกำกับความร่วมมือของเอเปคในระยะ 20 ปีต่อไป

โดยสาระสำคัญของปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 จะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำเอเปคในการรับมือและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 อาทิ การตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรค และดำเนินมาตรการในการฟื้นฟูและการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาการค้าและการลงทุนที่เสรีและเปิดกว้าง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี การสนับสนุนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) การปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการค้าที่มุ่งสร้างความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับปฏิญญาผู้นำว่าด้วยวิสัยทัศน์เอเปคภายหลังปี ค.ศ. 2020 เป็นการกำหนดวิสัยทัศน์และแนวทางการดำเนินงานของเอเปคใน 20 ปีข้างหน้า โดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านการค้าและการลงทุนเสรี นวัตกรรมและกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล รวมถึงการรักษาสถานะของเอเปคให้เป็นเวทีหลักของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจเอ็มเอสเอ็มอี และแนวทางการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ทั้งนี้ เจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ 28 ในปี 2564 คือประเทศนิวซีแลนด์