ความเชื่อมั่นธุรกิจต.ค.เพิ่มขึ้น ภาคเอกชนจี้รัฐเร่งเปิดประเทศ

ความเชื่อมั่นธุรกิจต.ค.เพิ่มขึ้น ภาคเอกชนจี้รัฐเร่งเปิดประเทศ

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) เดือนตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและหอการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 364 ราย ช่วงวันที่ 26-30 ตุลาคม พบว่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 33.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2563 ปัจจัยหนุนดัชนีดีขึ้น คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2563 ใหม่ คาดติดลบ 7.7% จากเดิมคาดไว้ลบ 8.5% มาตรการกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจปลายปี อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และมาตรการช้อปดีมีคืน และราคาน้ำมันขายปลีกลดลง ขณะที่ปัจจัยลบ คือ สถานการณ์การเมือง การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนและประชาชนกลุ่มต่างๆ อาจส่งผลให้ไทยเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนในอดีต ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความกังวลสหรัฐตัดจีเอสพีสินค้าไทยเพิ่ม การส่งออกและการนำเข้าเดือนกันยายนยังติดลบ ตลาดหุ้นลดลง 42.09 จุด และเงินบาทแข็งค่า รวมถึงความวิตกต่อรายได้จากการเกษตร การว่างงาน หนี้ครัวเรือน และยังไม่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตามปกติ

“ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจดีขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 5 แต่ค่าดัชนียังต่ำระดับ 50 ทั้งมุมมองในปัจจุบันและอนาคต สะท้อนว่าธุรกิจยังมีความกังวลต่อปัจจัยต่างๆ สูง โดยในการสำรวจเอกชนระบุประเด็นที่กังวลมากสุด คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐออกมาใช้ได้ไม่เต็มที่ จากเหตุการชุมนุมทางการเมือง จนคนไม่มีอารมณ์ในการใช้จ่ายและท่องเที่ยว ซึ่งเดือนตุลาคมค่าดัชนีต่อการท่องเที่ยวและภาคเกษตรยังติดลบ ขณะที่ภาคบริโภค การลงทุน อุตสาหกรรรม การค้า บริการ และจ้างงานยังเป็นบวก สะท้อนว่าความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นมาจากมาตรการรัฐที่ออกมา และหลายฝ่ายมองว่าไตรมาส 2 ปีนี้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ภาคธุรกิจมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ 1.มาตรการช่วยเหลือธุรกิจส่งออกโดยการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน พร้อมลงทุนในสิ่งใหม่ๆ ให้มีความต่อเนื่อง 2.รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนเพื่อช่วยเสริมความสามารถการแข่งขัน ผลักดันส่งออกไปตลาดอื่น โดยเฉพาะตลาดจีนเพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่และเศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวหลังโควิด 3.เพิ่มมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อประชาชนให้เข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากหยุดนิ่งของสถานการณ์โควิด 4.จัดสวัสดิการและมาตรการช่วยเหลือกระจายสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น

“สิ่งที่ธุรกิจทุกภาคต้องการระยะสั้นคือการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างช้าไม่ควรเกินเดือนมกราคม บนมาตรการเข้มงวดป้องกันโควิด เพราะหากล่าช้าจะกระทบต่อภาคท่องเที่ยว ภาคการค้าและบริการที่เกี่ยวข้องให้หนักขึ้น กระทบต่อการปิดตัวของกิจการและเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่วนไตรมาส 4 ปีนี้ จากแรงส่งของมาตรการรัฐที่ทำอยู่จะช่วยกระตุ้นใช้จ่ายและท่องเที่ยวของคนไทยได้ดีขึ้น และทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ติดลบเหลือ 4-5% และทำให้ทั้งปีนี้เศรษฐกิจลบ 6.0-6.5% แต่หากสถานการณ์การเมืองแย่ลงจนกระทบต่อการบริโภคและการท่องเที่ยวคนในประเทศ จากการปะทะรุนแรงนำไปสู่การยุบสภา นายกรัฐมนตรีลาออก ไม่มีคณะรัฐมนตรี หรือการชุมนุมยืดเยื้อจนคนไม่อยากใช้จ่ายหรือเดินทางแม้มีการหยุดต่อเนื่องยาวและใกล้เทศกาลปีใหม่ ไตรมาส 4 ปีนี้อาจติดลบ 6.5-8.0% ทำให้เศรษฐกิจทั้งปีลบ 6.5-7.0% ซึ่งเบื้องต้นคาดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นไม่ถึง 25%” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 18 พฤศจิกายน มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและให้เน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้นนั้น เห็นด้วย สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว และผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว จากนี้รัฐต้องเข้าไปดูแลให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจได้มากขึ้น และดูแลในเรื่องค่าเงินบาทให้เหมาะสมสอดคล้องกับประเทศคู่แข่งในด้านส่งออก ซึ่งขณะนี้ค่าบาทเหมาะสมควรอยู่ที่ 31.50-30.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในอนาคต และหากไม่มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ตั้งแต่ต้นปีหน้า ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 กลับมาเป็นบวก 4% ได้แน่นอน