‘ไอลอว์’ แจงกลางสภา 5 ความฝัน รัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนผู้ริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับประชาชนต่อรัฐสภา โดยมี 5 ความฝัน ดังนี้

ผมมีความฝัน เมื่อนำไปพูดคุยกับเพื่อนฝูง ทีมงาน เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน เราก็ต่างมีความเห็นตรงกัน และเมื่อนำเสนอไปสู่สาธารณะ ก็มีคนที่เห็นด้วยและมาช่วยกันเข้าชื่อถึง 100,732 คน ภายในเวลาเพียง 43 วัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวและความต้องการของสังคมที่แพร่กระจายไปทั่วในปัจจุบัน

ความฝันของเรามีห้าข้อ ดังนี้ครับ

หนึ่ง เราฝันว่า เราได้อยู่ในประเทศที่ประชาชนมีสิทธิในการเลือกผู้ที่จะมาใช้อำนาจปกครอง หรือเลือกนายกรัฐมนตรี อาจจะเป็นการเลือกตั้งผ่านสมาชิกรัฐสภา แต่สมาชิกที่จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นก็ต้องเข้าไปนั่งในสภาได้เพราะประชาชนเลือกมาทุกคน

สอง เราฝันว่า เราได้อยู่ในประเทศที่ผู้ใช้อำนาจรัฐ มีความโปร่งใส สามารถถูกตรวจสอบได้ โดยมีองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบหากมีข้อสงสัยเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นหรือมีการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งที่มาขององค์กรเหล่านั้นจึงต้องเป็นอิสระจากผู้ใช้อำนาจ เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร เป็นอิสระจากคนที่พวกเขาต้องไปทำหน้าที่ตรวจสอบ

สาม เราฝันว่า เราได้อยู่ในประเทศที่ประชาชนมีอำนาจกำหนดอนาคตของตนเอง อย่างน้อยที่สุดก็ผ่านการเลือกตั้ง ผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องแถลงนโยบาย และประชาชนจะช่วยกันเลือกทิศทางของประเทศผ่านการเลือกนโยบายเหล่านั้น ซึ่งจะเลือกใหม่ได้ทุกๆ อย่างน้อย 4 ปี

สี่ เราฝันว่า เราได้อยู่ในประเทศที่ระบบยุติธรรมบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม คนที่กระทำความผิดหรือถูกสงสัยว่ากระทำความผิดต้องถูกดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม และถ้าหากศาลตัดสินเป็นที่สุดว่ามีความผิดก็ได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่มีการยกเว้นให้ใคร ไม่ว่าจะใหญ่โตแค่ไหน เป็นใครมาจากไหนก็ตาม

ห้า เราฝันว่า เราได้อยู่ในประเทศที่กติกาสูงสุดของประเทศ ที่ออกแบบการเมืองการปกครองและรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถูกร่างขึ้นโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ อย่างน้อยที่สุดต้องร่างโดยตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 100% ในบรรยากาศที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้ มีส่วนร่วมได้อย่างต็มที่

“ความฝันทั้งหมดนี้เป็นเรื่องยากเกินไปไหมครับ” นายนิ่งชีพกล่าวสรุป และว่า

สิ่งที่พวกเรา คนอย่างน้อยหนึ่งแสนคนอยากจะเห็นในวันนี้ล้วนเป็นเรื่องที่ พื้นฐานมากๆ ที่ครั้งหนึ่งประเทศไทยก็เคยเป็นเช่นนั้น และในวันนี้แทบทุกประเทศในโลกก็เป็นเช่นนี้ ผมเชื่อว่าทั้งท่านประธานและท่านสมาชิกทุกคนต่างก็ฝันถึงสิ่งเหล่านี้ไม่ต่างกัน

นี่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องสุดโต่ง หรือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในสังคมบ้านเรา

และยังไม่มีใครที่เคยให้เหตุผลอันเป็นเหตุเป็นผลได้เลยว่า เหตุใดเราจึงต้องการรูปแบบการปกครองที่เป็นอย่างอื่น ที่แตกต่างไปจากความฝันอันธรรมดาเหล่านี้

แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มีกลไกหลายประการที่ขัดขวางไม่ให้ความฝันเหล่านั้นเป็นจริง เราจึงต้องเสนอยกเลิกบางเรื่อง และแก้ไขบางเรื่อง ดังนี้ครับ

1. เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้เลือกผู้มาปกครองตัวเอง จึงเสนอให้ยกเลิกมาตรา 269 และ 272 ที่ให้อำนาจกับกลุ่มคนที่ผู้สมัครเป็นนายกรัฐมนตรีคัดเลือกมาเอง เพื่อให้มามีอำนาจลงมติเลือกคนนั้นกลับเป็นนายกรัฐมนตรี ยกเลิกช่องทาง “นายกฯคนนอก” หรือการเปิดให้กลุ่มคนกลุ่มเดิมลงมติหยิบเอาใครที่ไหนมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ โดยไม่ต้องลงสมัครรรับเลือกตั้ง รวมทั้งแก้ไขมาตรา 252 ที่เปิดโอกาสให้มีผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งด้วย

2. เพื่อให้เรามีองค์กรตรวจสอบการทำงานและการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่มาของกรรมการในองค์กรต่างๆ ทั้ง กกต., ป.ป.ช., กรรมการสิทธิฯ, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ควรต้องได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มคนที่ฝ่ายบริหารแต่งตั้งมาเอง อย่าง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ ส.ว. ชุดปัจจุบัน แบบที่เป็นอยู่ในรัฐธรรมนูญนี้ เราจึงเสนอให้ยกเลิกมาตรา 203 ซึ่งว่าด้วยที่มาขององค์กรเหล่านี้ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ให้กรรมการชุดปัจจุบันที่มาจากระบบสรรหาแบบเดิมพ้นจากตำแหน่ง และในโอกาสเฉพาะหน้าให้สรรหาชุดใหม่มาทำหน้าที่ ด้วยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ 2540

3. เพื่อให้ประชาชนกำหนดอนาคตตัวเองได้ เราต้องยกเลิกแผนยุทธศาตร์ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งชื่ออาจจะฟังดูหรูหรา แต่เบื้องหลังคือเขียนขึ้นโดยคนที่ถูกแต่งตั้งจาก คสช. ทั้งหมด โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานคณะกรรมการเอง ผ่านการพิจารณาและอนุมัติมาโดยคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยการยกเลิกมาตรา 65 แก้ไขมาตรา 142, 162 และยกเลิกหมวดที่ 16 เรื่องการปฏิรูปของ คสช.

4. เพื่อให้ระบบยุติธรรม บังคับใช้กับทุกคนได้อย่างเท่าเทียม ต้องยกเลิกการเขียนนิรโทษกรรมตัวเองในมาตรา 279 มาตราสุดท้าย ที่ คสช. ใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญว่า การกระทำในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ไม่เป็นความผิดทั้งหมด ประกาศและคำสั่งรวมทั้งการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งทั้งหลายก็ได้รับความคุ้มครองตลอดไป

5. เพื่อได้ให้มาจากซึ่งรัฐธรรมนูญจากประชาชน ต้องเริ่มต้นกันใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ร่างขึ้นโดยคนที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง ในบรรยากาศที่ทหารมีอำนาจพิเศษจากมาตรา 44 เอาคนไปไว้ในค่ายได้ 7 วัน มีการจับกุมพลเรือนที่วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญและดำเนินคดีที่ศาลทหาร ขณะที่มีคนออกประกาศบังคับสื่อทุกช่อง ถ่ายทอดรายการพิเศษแล้วนั่งพูดคนเดียวผ่านโทรทัศนย์ทุกช่องทุกวันตอนเย็น ทำให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนที่ร่างขึ้นเพียงฝ่ายเดียว มีปัญหาหมกเม็ด

สำหรับการตีความในอนาคต มีการซ่อนเร้นการสืบทอดอำนาจอยู่ตามกลไกต่างๆ เราจึงต้องเสนอให้มีการแก้ไข “วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เปิดให้จัดตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสมาชิก สสร. ทุกคนต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% และเป็นการเลือกตั้งกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในบรรยากาศที่การเมืองเปิดกว้างไปสู่การสร้างสังคมใหม่ เพื่ออาศัยกระบวนการของ สสร. เปิดให้สังคมนำปัญหาที่มีความขัดแย้งมาถกเถียงกันได้ในทุกประเด็น และออกแบบกติกาใหม่ที่ทั้งสังคมจะยอมรับร่วมกันได้ สำหรับใช้ต่อไปในอนาคตอีกยาวนาน

หลักการเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เรานำมาเสนอต่อสภาในวันนี้จึงเป็นเพียงข้อเสนอธรรมดา เพื่อถามหาสิ่งที่เป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ เป็นข้อเรียกร้องที่อยากจะขอแก้ไขระบอบการเมืองการปกครองที่ “ผิดปกติ” อยู่ในปัจจุบัน ให้กลับเป็นปกติเท่านั้น และ เป็นข้อเสนอที่โดยเนื้อหาแล้วไม่สามารถหาข้ออ้างใดมาปฏิเสธได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล

หากรัฐสภาได้ลงมติเพื่อ “รับ” ในหลักการ และนำไปพิจารณาต่อในขั้นตอนต่อไป ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันเป็นโอกาสที่จะลดความขัดแย้งที่อยู่บนท้องถนน และเปิดพื้นที่ให้เอาเหตุผลมาคุยกันบนกฎกติกา

แต่หากท่านไม่แม้แต่จะรับไว้พิจารณา ท่านก็มีภาระหน้าที่ต้องอธิบายต่อประชาชนอย่างน้อยหนึ่งแสนคนที่เข้าชื่อกันเสนอมา และเจ้าของอำนาจอีกหลายล้านคนที่กำลังติดตาม ซึ่งต่างก็กำลังรอฟังเหตุผลอยู่เช่นเดียวกัน

และรับทุกร่างคือทางออก