สธ. เผยผลสำรวจ ส้วมสาธารณะยอดแย่ ชี้ วัด-โรงเรียน ติดอันดับ 1ใน5 ควรปรับปรุง

สธ. เผยผลสำรวจ ส้วมสาธารณะยอดแย่ พบวัด-โรงเรียน ติดอันดับ 1ใน5 ควรปรับปรุง ส่วนส้วมปั๊ม ห้างสรรพสินค้า ประชาชนเลือกใช้มากที่สุด

วันที่ 17 พ.ย.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในงานรณรงค์วันส้วมโลก ปี 2563 ซึ่งตรงกับวันที่ 19 พ.ย.ของทุกปี ว่า ส้วมมีความสำคัญมาก การที่ส้วมสะอาด แห้ง ทำให้ไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค โดยวัดและโรงเรียนเป็น 2 จุดที่มีห้องน้ำจำนวนมาก และมีผู้เข้าใช้บริการจำนวนมากเช่นกัน จากการที่คนไปร่วมงานประเพณีต่างๆ แต่โดยทั่วไปมักเห็นว่าทั้งสองแห่งส้วมมีความสกปรก ไม่น่าเข้า บางที่เป็นแหล่งมั่วสุมเข้ามาสูบบุหรี่ โดยปี 2564 สธ.และกรมอนามัยจะขับเคลื่อนให้เป็นส้วมที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย

“ส้วมที่สะอาดไม่จำเป็นต้องหรูหรา ขอเพียงมีความสะอาดและแห้งก็พอ โดยอย่างน้อยสัก 3 ใน 10 ห้อง หรือบางห้อง ที่มีความสะอาด ถูกสุขลักษณะ และแห้ง ก็พอ โดยจะรับสมัครอาสาสมัครวัดวาอาสา เข้ามาช่วยทำความสะอาดส้วมวัด โดยใช้งบประมาณของวัดในการจัดซื้ออุปกรณ์ทำความสะอาด เพื่อให้มีคนที่คอยมาทำความสะอาดห้องส้วมวัดตลอดเวลา ก็จะทำให้ส้วมสะอาดขึ้นเหมือนห้างสรรพสินค้าที่มีการจ้างคนทำความสะอาดตลอดเวลา โดยมอบหมายให้กรมอนามัยไปดำเนินการทำเรื่องนี้ต่อไป เพื่อให้วัดทั่วประเทศมีส้วมที่สะอาด ถูกสุขลักษณะต่อไป” นายสาธิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม นอกจากการทำความสะอาดห้องส้วมบ่อยๆ แล้ว พฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ส้วมสะอาด จากการสำรวจอนามัยโพลออนไลน์ พบว่า พฤติกรรมการใช้ส่วมยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยการราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังใช้ส้วมอยู่ที่ 87.7% ล้างมือทุกครั้งหลังใช้ส้วมอยู่ที่ 86.3% ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมนั่งราบ 72.7% ไม่ทิ้งสิ่งใดลงในส้วม 60.9% ขณะที่การใช้ส้วมนั่งราบหรือชักโครก พบว่า กดชักโครกทุกครั้งหลังใช้ 89.9% เช็ดที่รองนั่งบนโถส้วม 67.9% ปิดฝาส้วมทุกครั้งก่อนกด 34.7% ส่วนการทิ้งกระดาษชำระพบว่า ทิ้งในถังขยะ 92.9% ยังทิ้งลงในส้วม 7.1%

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาการอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ความรู้ใหม่คือ การใช้ส้วมเสร็จแล้ว ต้องปิดฝาก่อนแล้วค่อยกดชักโครก เพื่อลดการฟุ้งกระจาย ซึ่งคนยังทราบเรื่องนี้น้อยจากผลสำรวจที่ออกมา คือ 34.7% เท่านั้น จึงต้องขับเคลื่อนสร้างความรู้ความเข้าใจการใช้ส้วมอย่างถูกต้อง โดยการใช้ส้วมสาธารณะวิถีใหม่เพื่อทุกคน ผู้ใหบริการต้องพัฒนาส้วมให้ได้มาตรฐาน สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโรค เพิ่มทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม และส่งเสริมให้มีส้วมระบบไร้สัมผัส ส่วนผู้ใช้บริการ 5 วิถีใหม่หรือ New Normal ใช้ส้วมอย่างถูกต้อง คือ ปิดฝาส้วมก่อนกดชักโครก เว้นระยะห่างในขณะรอใช้ส้วม 1-2 เมตร ไม่เหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ ไม่ทิ้งวัสดุอื่นใดลงส้วม และล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งหลังใช้ส้วม

จากผลสำรวจอนามัยโพลออนไลน์ เรื่อง การใช้ส้วมสาธารณะของประชาชน โดยกรมอนามัย พบว่า ลักษณะของส้วมที่ประชาชนเลือกใช้บริการมากที่สุด คือ สะอาด 87.6% ปลอดภัย 7.9% สะดวก 3.5% โดยส้วมสาธารณะที่ชอบใช้บริการมากที่สุด ได้แก่ ปั๊มน้ำมัน 68% ห้างสรรพสินค้า 58.5% โรงพยาบาล 21.6% สถานที่ราชการ 20.4% และแหล่งท่องเที่ยว 17.5% โดยส้วม 3 อันดับแรกที่สะอาดที่สุด คือ ห้างสรรพสินค้า 70.8% ปั๊มน้ำมัน 64.7% และสถานีขนส่งทางอากาศ 35%

แต่ส้วมยอดแย่ที่ควรปรับปรุง 5 อันดับแรก คือ 1.วัด 64.2% 2. ตลาดสด 52.3% 3. สวนสาธารณะ 37.5% 4. ส้วมริมทาง 35.2% และ 5. โรงเรียน 34.2% โดยสิ่งสำคัญที่ต้องปรับปรุง คือ 1. ความสะอาด 91.9% 2. กลิ่น 71.9% 3. มีน้ำสะอาดใช้ 53.5% 4. ทำความสะอาดตลอดเวลา 35.1% และ 5. พื้นแห้ง/ไม่ลื่น 34.3%