ก้าวไกล แฉรัฐบาล เริ่มหาทางหนีม็อบล้อมสภา เหตุร่างรธน.บางฉบับ ส่อถูกปัดตก

ส.ส.ก้าวไกล เผย รัฐบาลเริ่มหาทางหนีม็อบล้อมสภา เหตุ ร่างรธน.บางฉบับส่อแววถูกปัดตก ชี้ วันใดปชช.เลิกล้อมสภา วันนั้นยิ่งอันตราย ไอลอว์ ชี้เสนอรื้อกลไก คสช.สืบทอดอำนาจ

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 13 พ.ย. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) และ 30 องค์กรประชาธิปไตย ร่วมกันจัดเวทีประชุมทางการเมือง หัวข้อ “บทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย”

นายชัยธวัธ ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากข้อเสนอส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ให้มีการโหวตร่างรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ ช่วงเวลาที่ไม่ใช่เวลากลางคืน เพราะเกรงว่าจะมีผู้มาชุมนุมที่รัฐสภาฯ สะท้อนว่า อาจมีร่างใดร่างหนึ่งจะไม่ผ่านในสภาฯแน่นอน รวมทั้งประธานสภาฯ เองได้ถามตัวแทนคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่ารับรองความปลอดภัยได้หรือไม่

คงพอจะสะท้อนว่า หลายฝ่ายในสภาฯ ในรัฐบาล ไม่เข้าใจสถานการณ์ความเป็นจริงว่า การชุมนุมหรือความคับข้องใจคืออะไรกันแน่ ยังคงคิดว่า คนไม่กี่คนบงการ ชี้นิ้วว่าจะเอาอย่างไรได้ น่าเป็นห่วงว่า กลไกลสภาที่จะแก้วิกฤติการเมือง อาจจะทำอะไรช้าเกินไป สายเกินไป น้อยเกินไป นำไปสู่สถานการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า การไปบอกว่า ส.ส.ร.ห้ามแก้ไขหมวด1-2นั้น ตนไม่อยากให้กังวลว่า จะมีใครไปเสนอให้แก้ไขอะไรเกินเลย แต่ขอให้เชื่อว่า จะมีการหาจุดสมดุลได้ แต่การไปปิดกั้นอาจทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ได้รับการยอมรับ เช่นเดียวกับส.ส.ร.ควรมีการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด เป็นสิ่งที่ชอบธรรมที่สุด และสภาต้องยอมรับว่า ประเด็นในตอนนี้ไปไกลกว่ารัฐธรรมนูญแล้ว เราจะปิดหู ปิดตา ไม่ฟัง จะปล่อยให้สายเกินไปหรือจนกว่าส.ว.จะพูดคุยอย่างมีวุฒิภาวะได้

“สำหรับข้อถกเถียงปฏิรูปสถาบันนั้น สภาควรสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พูดคุยอย่างมีวุฒิภาวะ เป็นวิธีที่ดีที่สุด ไม่ให้สถานการณ์นำไปสู่ความรุนแรง ถ้าเราไม่ตระหนักเรื่องนี้ จะสายเกินไป ช้าเกินไป วันนี้เริ่มเห็นสัญญาณคนที่อยู่นอกสภาให้ความสำคัญกับสภามากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าวันใดเขาไม่สนใจสภา สิ่งนี้เป็นสิ่งอันตราย ถ้าสภาไม่มีความกล้าหาญ อยากบอกสมาชิกส.ว. และส.ส.รัฐบาล อย่ากลัว ผู้ชุมนุมมาล้อมสภาก็ให้เขามาล้อมสภา ดีกว่าไปล้อมที่อื่น ถ้าเขาบอกว่า ไม่เห็นสภาสำคัญ สิ่งนั้นอันตรายมากกว่า” นายชัยธวัช กล่าว

ขณะที่ นายณัชปกร นามเมือง แกนนำกลุ่มไอลอว์(iLaw) กล่าวว่า หลักการของไอลอว์ คือ ร่วมรื้อ-ร่วมสร้าง-ร่วมร่าง ร่วมรื้อ คือ รื้อบรรดากลไกสืบทอดอำนาจคสช. ร่วมสร้าง คือ สร้างหนทางประชาธิปไตย โดยมีส.ส.ร. ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นอกจากนี้เรายังเสนอให้ยกเลิกช่องทางนายกฯคนนอก ยกเลิกแผนปฏิรูป แผนยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ใช่เราไม่เห็นด้วย แต่เห็นว่ากลไกลเดิมเป็นการให้คณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งกุมอำนาจ ยกเลิกผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และยกเลิก บทที่ว่าด้วยการนิรโทษกรรมคสช.

และ แก้ไข โดย แก้ไขที่มาสว. ที่มาจากการเลือกตั้ง แก้ไขให้นายกฯต้องเป็นส.ส. แก้ไของค์กรอิสระให้ยึดโยงกับประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญให้แก้ง่าย และแก้ไขเพิ่มหมวดที่มาจากส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งเราไม่ได้ต้องการแตะต้องคดีทุจริจ เพียงแต่ต้องการให้องค์กรอิสระ ยึดโยงกับประชาชน และขอให้สว.ปกป้อง เจตนารมณ์นี้ เมื่อมองวา นิติวิธีมีปัญหาท่านแก้ได้ แต่ไม่ได้เพราะหลักการมีปัญหา การนำไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ก็คิดว่า เราจะอยู่กันแบบนี้จริงหรือ