“สุพัฒนพงษ์”เร่งเคาะชื่อผู้ลงทุนท่าเรือแหลมฉบังภายในสิ้นปีนี้ ปิดดีลโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี

“สุพัฒนพงษ์”เร่งเคาะชื่อผู้ลงทุนท่าเรือแหลมฉบังให้ได้ภายในปีนี้ ปิดดีลโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี ขับเคลื่อนการลงทุนเต็มรูปแบบปีนี้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กบอ.) ที่กระทรวงพลังงาน ว่า ภายในปีนี้โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ทั้งจะต้องคืบหน้าและสามารถจบโครงการได้ผู้ดำเนินโครงการทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันยังเหลือท่าเรือแหลมฉบังที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ดังนั้นจะโครงการนี้จะต้องจบ เช่นเดียวกับ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ท่าเรือมาบตาพุดเฟส3 สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน เพื่อให้ปี 2564 ไทยจะเดินหน้าด้านการลงทุนอย่างเต็มที่ให้เป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังจากพึ่งพาด้านการท่องเที่ยวมูลค่าถึง 2 ล้านล้านบาทแต่ปัจจุบันยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19

“ปี2564 รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่อีอีซี ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท มาจากภาครัฐ 1 แสนล้านบาท และเอกชน 3 แสนล้านบาท มูลค่าดังกล่าวจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุม กบอ. ยังเห็นชอบความก้าวหน้าแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ อีอีซี ประกอบด้วย แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ อีอีซี ร่วมกับกระทรวงเกษตร
และสหกรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป้าหมาย ยกระดับภาคเกษตร ใช้เทคโนโลยีให้ผลการผลิตสูงขึ้น เข้าถึงตลาดเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มรายได้เกษตร เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ รวมทั้งความก้าวหน้าการพัฒนาโครงข่าย 5จี ในพื้นที่ อีอีซี หลังจากสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ร่วมกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เดินหน้าให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมรองรับ 5จี ใน อีอีซี เต็มรูปแบบ พร้อมเริ่มก่อสร้างทันที คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 3 เดือน เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกเข้ามาร่วมลงทุนใน อีอีซี เริ่มพื้นที่นำร่อง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยได้เตรียมบุคลากรด้านดิจิทัลรองรับ จำนวน 100,000 คน เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ระดับชุมชน สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ อีอีซี

รวมทั้ง การขับเคลื่อนแผนบูรณาการอีอีซี ปี 2565 อย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการความร่วมมือจากส่วนกลางและท้องถิ่น โดยมีผู้แทน 18 กระทรวง 103 หน่วยงาน ภารกิจขับเคลื่อน 5 แนวทาง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค ส่งเสริมการท่องเที่ยว พัฒนาบุคลากรการศึกษา งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนรองรับการขยายตัวของเมือง และการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ กระตุ้นการจ้างงาน สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้งนี้ งบบูรณาการปี 2564 วางเป้าหมายให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท โดยสกพอ. ใช้งบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หรือเพียง 20 % ของงบประมาณรัฐ ที่เหลือเป็นเงินลงทุนจากเอกชน คาดว่าปี 2565 จะเกิดการลงทุนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น