‘เสธ.อู้’ ชี้ ส.ว.ล่ารายชื่อยื่นศาลตีความเป็นสิทธิ เชื่อ หากเดินหน้าแก้ รธน.ช่วยสถานการณ์เย็นลงได้

‘เสธ.อู้’ ชี้ ส.ว.ล่ารายชื่อยื่นศาลตีความเป็นสิทธิ ไม่ทำกระทบพิจารณาร่าง รธน. เชื่อ หากเดินหน้าแก้ รธน.ช่วยสถานการณ์เย็นลงได้

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงท่าทีของ ส.ว.ที่ล่าชื่อยื่นเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ ว่า เชื่อว่าการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความไม่ได้มีผลต่อการพิจารณารับหลักการร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 1 ก็เป็นสิทธิของ ส.ว.กลุ่มดังกล่าวในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แต่คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร และไม่ได้เป็นกระบวนการดึงเกมการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากมีการยื่นศาลและศาลเห็นว่าต้องมีการทำประชามติ ก็ไปทำประชามติก่อนเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นความคิดของคนกลุ่มหนึ่ง เป็นสิทธิของเขา กระบวนการทุกอย่างยังเดินหน้าต่อไปได้ เป็นความคิดความเชื่อของคนบางกลุ่ม ซึ่งกฎหมายมันก็เป็นแบบนี้ ตีความกันได้หลายแง่หลายมุม

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวถึงแนวทางการสร้างความสมานฉันท์และการปรองดอง ว่า เชื่อว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ฯมีประโยชน์แน่นอน อย่างน้อยก็น่าจะช่วยให้บรรยากาศดีขึ้น สามารถมานั่งพูดคุยกัน หรือแบบที่นักวิชาการเรียกว่าพื้นที่ปลอดภัย ส่วนใครจะเข้ามาบ้าง หรือรูปแบบจะเป็นอย่างไร เชื่อว่านายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยังไม่ได้ตัดสินใจ คงต้องมีการปรึกษากับหลายๆ ฝ่าย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคณะกรรมการฯชุดนี้ยังไม่สามารถตั้งได้ภายใน 2-3 อาทิตย์นี้ สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือต้องพิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน แม้จะตั้งคณะกรรมการฯสมานฉันท์มา เขาก็เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ดี เพราะเป็นข้อเรียกร้องของหลายฝ่ายด้วย ซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็เห็นชอบนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยัน และพร้อมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งส่วนตัวก็สนับสนุน และต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญเมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ควรที่จะมีการแก้ไข จะแก้ไขรายมาตรา หรือแก้ไขโดย ส.ส.ร.สามารถทำได้ทั้งสองอย่าง

“ตรงนี้ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยทำให้สถานการณ์เย็นลงได้ ทุกฝ่ายมองเห็นเป้าหมายว่าอีกปีครึ่ง อีกสองปี จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่มีมาตราที่เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจ หรือว่ามีการปรับปรุงสิทธิเสรีภาพของปวงชน หน้าที่ของรัฐ องค์กรอิสระ ให้เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ส่วนการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เป็นการหวังผลในระยะยาว ที่จะช่วยนำประเทศไปสู่ความปรองดอง ความสามัคคี และพัฒนาให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น” พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว