ชำนาญ ชี้ ‘คณะก้าวหน้า’ ทางสะดวกลุยสนาม อบจ. ‘ธนาธร’ ช่วยหาเสียงได้

ชำนาญ ชี้ ‘คณะก้าวหน้า’ ทางสะดวกลุยสนาม อบจ. ‘ธนาธร’ ช่วยหาเสียงได้ ห่วงแค่ ‘กกต.’ ใช้ดุลยพินิจตีความกม.เลยเถิด

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 34 ที่กำหนดห้ามข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ กลั่นแกล้งผู้สมัครหรือกระทำการใดๆ อันเป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัคร ว่า ในกฎหมายระบุชัดเจนว่า ห้ามเจ้าที่ของรัฐ ซึ่งรวม 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายประจำ ที่เป็นข้าราชการทั่วไป กับฝ่ายการเมือง ซึ่งรวมไปถึง ส.ส. และ ส.ว. ความจริงแล้วการเลือกตั้งท้องถิ่นก็คือ การเมือง ดังนั้น เจ้าหน้าที่การเมืองก็ต้องช่วยได้ โดยในมาตรา 34 ก็ไม่ได้ระบุห้ามพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคที่ไม่เป็น ส.ส. เข้ามาเกี่ยวข้อง

เมื่อถามว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในส่วนองค์การบริหารส่งจังหวัด (อบจ.) โดยอ้างเหตุการเกรงข้อผิดพลาดทางด้านกฎหมาย นายชำนาญ กล่าวว่า คิดว่าอาจจะเป็นเรื่องความไม่พร้อมหรือไม่ อีกทั้ง ในแต่ละพื้นที่ก็มีคนอยากลงสมัครรับเลือกตั้งในสนามนี้เยอะ หากให้ทีมหนึ่งลงสมัคร ก็อาจจะเสียอีกทีม อาจจะเกิดความขัดแย้งได้ หลายคนก็อยากลงในนามพรรค พปชร. เพราะเป็นพรรคที่ถืออำนาจรัฐในมือ แต่ตอนที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ คงจะไม่ได้นึกถึงว่าจะมีคณะก้าวหน้าเกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้เป็นพรรคการเมือง แต่เป็นเพียงบุคคลธรรมดาทั่วไป มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และกรรมการบริหารอีก 15 คน ที่รวมถึงตนนั้น ไม่ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เพียงแต่ถูกเพิกถอนสิทธิการรับสมัครเลือกตั้ง คือ ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง และไม่สามารถตั้งพรรคการเมืองและดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น

เมื่อถามว่า คณะกรรมกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า คณะหรือพรรคการเมืองมีความเกี่ยวโยงกันจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าทำเพื่อพรรคหรือไม่นั้น ก็ต้องดูข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป นายชำนาญ กล่าวว่า นี่คือปัญหาเรื่องการใช้ดุลยพินิจ กฎหมายพรรคการเมืองเป็นกฎหมายมหาชน การตีความจะต้องอำนวยและเพิ่มสิทธิ ไม่ใช่ตัดสิทธิ การออกกฎหมายแบบนี้ถือว่าเป็นการไม่ไว้ใจประชาชน และพรรคการเมือง ตามธรรมชาติพรรคการเมืองมีความเชื่อมโยงทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น

เพราะผลการเลือกตั้งท้องถิ่นสามารถสะท้อนความนิยมต่อรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตาม ตนเป็นห่วงว่า กกต. จะตีความเลยเถิด และมั่วๆ อีกอย่างคือ กกต. ชุดนี้ไม่มีประสบการณ์การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะผู้อำนวยการเลือกตั้งท้องถิ่น คือ ปลัดองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้นๆ ที่มีปัญหาคือ เวลาที่ผู้สมัครไปหารือกับ กกต. ก็จะตอบไม่ตรงกัน