‘ณัฏฐพล’ จี้ ผอ.สพท. เป็นแกนนำพลิก ปวศ.การศึกษา ชี้ต้องกล้าควบรวม ร.ร.ขนาดเล็ก

‘ณัฏฐพล’ จี้ ผอ.สพท. เป็นแกนนำพลิก ปวศ.การศึกษา ชี้ต้องกล้าควบรวม ร.ร.ขนาดเล็ก ผุด ‘มัธยมดีสี่มุมเมือง’ หวังดึงเด็กอยู่พื้นที่

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ศูนย์การศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จ.สมุทรสงคราม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ว่า ปัจจุบันหลายคนสะท้อนว่าปัญหาที่เรากำลังเผชิญ โดยเฉพาะเรื่องของความแตกแยกในประเทศนั้น ถือเป็นเรื่องของการศึกษาหรือไม่ ซึ่งตนอยากให้ผู้อำนวยการ สพท.มองทุกปัญหาเป็นทางบวก และหาทางแก้ไขต่อไป และหากเราต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร คนที่จะเปลี่ยนแปลงคือผู้บริหาร ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ตนพูดเพียงนโยบาย ถ้าพูดแล้วปฏิบัติไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ ตนรับนโยบายโดยตรงมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อยากทำให้การศึกษาไทยดีขึ้น และเท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ เรื่องเหล่านี้ ต้องปลดล็อกสิ่งที่กีดขวางการศึกษาไทย ปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และต้องเปิดกว้าง ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ วันนี้เรามีความจำเป็นที่ต้องทำตรงนี้ให้ได้ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และอนาคตเราอยู่ในมือของเด็กรุ่นนี้ ถ้าเด็กไม่เข้มแข็ง ไม่มีความสามารถเพียงพอ เราจะมองไม่เห็นอนาคตของพวกเรา

“ผมขอให้ผู้อำนวยการ สพท.ทุกคน เป็นแกนนำในการพลิกประวัติศาสตร์การศึกษาไทย เราสามารถพลิกการศึกษาได้ แต่ต้องกล้าทำในหลายๆ อย่าง จากที่ผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.มากว่า 1 ปี พบว่า ศธ.ต้องควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก หลบไม่ได้แล้ว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากที่ผมสัมผัสดูเห็นว่าเรากำลังทิ้งคนไทยไว้ข้างหลัง เรื่องนี้ยากที่จะทำ แต่ต้องทำ เราต้องโอบอุ้มเด็กทุกคนให้เขามีศักยภาพมีพื้นฐายที่เท่าเทียมกัน โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือ สแตนอโลน มีความสามารถอยู่ได้ ก็ไม่ต้องควบรวม แต่โรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถควบรวมได้ เราต้องทำ หากใครมาบอกว่าทำไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการโรงเรียน และครู คุยยาก และผู้อำนวยการ สพท.คิดว่ายาก แสดงว่ารากำลังคิดถึงคนที่สำคัญน้อยกว่าเด็ก เพราะเด็กถือเป็นคนที่สำคัญที่สุด” นายณัฏฐพลกล่าว

นายณัฏฐพลกล่าวต่อว่า เราต้องไม่หลอกตัวเอง และเมื่อทำการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว จะบริหารจัดการเรื่องอื่นๆ เช่น รถรับส่งนักเรียน ผู้อำนวยการ และครูอย่างไร เรื่องเหล่านี้ ตนมองมีวิธีการจัดการแน่นอน แต่การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ต้องสร้างแรงจูงใจให้โรงเรียนใหญ่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย เช่น การสนับสนุนงบประมาณสร้างโรงเรียนให้มีคุณภาพ เพื่อจูงใจให้ผู้ปกครองงส่งลูกเข้าเรียน หากควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กแล้วจะนำพื้นที่ของโรงเรียนมาใช้ทำอะไร ตนมีแนวทางไว้อยู่แล้ว เช่น อาจจะนำเอามาทำเป็นบ้านพักครู หรือบ้านพักข้าราชการ ซึ่งจะทำให้พื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นชุมชน และความเจริญจะเข้าตามมา แต่ทั้งหมดทำไม่ได้ หากผู้ปฏิบัติไม่รับนโยบายมาลงมือทำ ดังนี้ ผู้อำนวยการ สพท.ต้องไปหารือและตรวจสอบว่าจะควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กพื้นที่ของตนกี่แห่ง เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป

“จากที่ผมเห็น ทุกๆ จังหวัด จะมีโรงเรียนชั้นนำ ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมือง และจะเด็กตั้งใจซึ่งขวนขวายมาเรียน หากเราสามารถพัฒนาโรงเรียนมัธยมที่อยู่ใกล้พื้นที่ที่นักเรียนอยู่ เป็นโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง ให้มีคุณภาพมากขึ้น ผมมั่นใจว่าเด็กจะไม่เข้าไปเรียนในเมือง และผมมั่นใจว่าหากทำให้โรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ลดจำนวนนักเรียนลง เช่น จากเดิมมีนักเรียน 3-4 พันคน ลดนักเรียนเหลือ 2-1.5 พันคน เชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำเด็กมีทางเลือกมากขึ้น และเด็กไม่ต้องมาเรียนในเมืองหรือกรุงเทพฯ หากโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง สามารถแสดงตัวตนได้ในทุกจังหวัด โรงเรียนประถมศึกษาที่อยู่รอบๆ จะได้รับการพัฒนาไปด้วย ถือเป็นการกระจายความเจริญด้านการศึกษา เมื่อโรงเรียนประถมเห็นการพัฒนาในโรงเรียนมัธยม เชื่อว่าการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจะง่ายมากขึ้น ซึ่งวิธีการนี้ถือเป็นการยกระดับรายได้ของแต่ละจังหวัดด้วยการศึกษา” นายณัฏฐพลกล่าว

นายณัฏฐพลกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ไม่ได้กำหนดจำนวนนักเรียนของโรงเรียนขนาดใหญ่ว่าควรจะมีนักเรียนจำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ ต้องดูถึงความเหมาะสม และต้องปล่อยนักเรียนไปเรียนอาชีวะด้วย เพราะอาชีวะคือ หัวใจของประเทศ ประเทศจะขับเคลื่อนไปได้ด้วยอาชีวะ เราต้องมีสายอาชีพ ซึ่งตนให้ผู้บริหารของกระทรวงเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงผลักดันโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองให้เร็วที่สุด เพื่อนำแผนงานนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาเห็นชอบและสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาต่อไป

“ทราบดีว่าเรื่องต่างๆ ฟังเเล้วอาจจะไม่ง่าย มีอุปสรรคเยอะ แต่อุปสรรคมีไว้ให้ทลาย หลายอย่างที่เคยเป็นปัญหาในการขับเคลื่อนการศึกษา ต้องปลดล็อก ต้องแก้ไขหาทางที่เหมาะสม ผมพยายามจัดสรรงบประมาณให้กระจายพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ดังนั้นอะไรที่ทำให้การศึกษาไม่มีประสิทธิภาพเราต้องรื้อ ผมเชื่อว่าการศึกษาไทยสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเรา เราต้องพลิกประวัติศาสตร์การศึกษาไทยให้ได้ ถ้าไม่ทำเราจะแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้” นายณัฏฐพลกล่าว