‘อนุชา’ ลั่นขอ ‘ประยุทธ์ ‘ อย่าลาออกนายกฯ เพราะทำลายประชาธิปไตย วอนผู้เห็นต่างเลือกตั้งใหม่ 4 ปีข้างหน้า

“อนุชา นาคาศัย” รมว.ประจำสำนักนายกฯ อภิปรายขอ “บิ๊กตู่” อย่าลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามข้อเรียกร้องของฝ่ายผู้ชุมนุมราษฎร เพราะเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมให้ผู้เห็นต่างที่อยากบริหารประเทศ มาเลือกตั้งใหม่ใน 4 ปีข้างหน้า

วันที่ 28 ตุลาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อภิปรายชี้แจงในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ชื่นชมสมาชิกรัฐสภาและประธานสภา ที่ร่วมกันพูดคุยเพื่อหาทางออกของวิกฤติของประเทศ จนนำไปสู่การเปิดการอภิปรายทั่วไปในวันนี้ ซึ่งตนเองถือว่าเป็นแสงสว่างรำไร ที่จะเห็นสภา ที่ทุกคนอาสาเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนในการแก้ปัญหาให้ประชาชน ซึ่งไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไรก็แล้วสภาแห่งนี้ควรเป็นที่พึ่งของประชาชน

นายอนุชาระบุว่า ในขณะที่เห็นว่าสถานการณ์เริ่มเลวร้าย สถานการณ์เริ่มจะควบคุมไม่อยู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐบาลได้เห็นด้วยกับแนวคิดของสมาชิกรัฐสภาจึงขอเปิดสมัยวิสามัญเปิดการอภิปรายตามมาตรา 165 แต่หลังจากที่มีการเสนอญัญติ ตนเองผิดหวังที่พรรคร่วมฝ่ายค้านระบุว่าญัตติที่รัฐบาลเสนอมานั้นไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา และจะให้ร้ายต่อชุมนุมโดยผู้ชุมนุมไม่มีทางตอบโต้ คำพูดนี้ฟังดูเหมือนจะดี ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องถูกต้อง แต่ยืนยันได้ว่าในประชุม ครม. นายกฯ มีเจตนาบริสุทธิ์อย่างยิ่งเพราะต้องการแก้ไขปัญหาของประเทศผ่านทางรัฐสภา และมีความจริงใจและเจตนาแน่วแน่ในการเสนอญัตติ

นอกจากนี้ ในญัตติยังมีการพูดถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และตนเองเชื่อว่าภาวะของสมาชิกรัฐสภานั้นย่อมเล็งเห็นได้ว่าเราสามารถที่จะอภิปรายได้ในหลายรูปแบบ ในทางสร้างสรรค์ที่จะแก้ปัญหาด้วยเจตนาและความจริงใจจะแก้ปัญหาของประเทศจริง รวมถึงการอภิปรายในวันนี้ทำให้เห็นว่าสมาชิกรัฐสภาเกือบทั้งหมด ไม่มีกล่าวร้ายผู้ชุมนุมโดยไม่จำเป็นแม้แต่น้อย แต่ตรงกันข้ามพรรคร่วมฝ่ายค้านกลับมีแต่กล่าวโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งโดยที่ไม่คิดถึงหนทางแก้ไขที่เป็นไปได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าพวกเราในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชนได้เล็งเห็นถึงความรุนแรง เล็งเห็นถึงความแตกแยกของสังคมทางความคิดในระบบประชาธิปไตย แต่ฝ่ายค้านกลับเมินเฉยว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นข้อเรียกร้องธรรมดา เป็นข้อเรียกร้องที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งหากคิดเช่นนั้นถือว่ามีจิตใจที่คับแคบกับระบอบประชาธิปไตยเกินไป

นายอนุชายังอภิปรายว่า แม้นายกฯ จะบริหารราชการแผ่นดินมากี่ปี แต่มาตามระบอบประชาธิปไตยและได้รับเลือกเข้ามาโดยรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ ทั้งนี้แม้หลายฝ่ายจะไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่นายกฯ แสดงเจตนาว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐสภาต้องการ ซึ่งถือว่านี่คือระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมาพูดคุยกันในรัฐสภา สำหรับพรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนที่จะยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคกล่าวไว้ว่าต้องการทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี รวมถึงมีจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เรียกร้อง

“คำว่าประชาธิปไตย ผมคงไม่พูดถึงว่าใครคิดอย่างไร และไม่อาจสั่งสอนหรือบอกกับทุกคนที่มีวุฒิภาวะ แต่มีสิ่งหนึ่งที่หนีไม่ได้จากการเป็นประชาธิปไตย คือการเลือกตั้งแล้วต้องอยู่ครบให้ 4 ปี ตามรัฐธรรมนูญ แต่หากท่านคิดว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและมองว่าตนเองมีความสามารถที่จะนำพาประเทศเดินหน้าไปได้ อีก 4 ปีขอให้ท่านมาเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่มาใช้วิธีอย่างนี้” รัฐมนตรีสำนักนายกฯ กล่าว

นายอนุชากล่าวต่อไปว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อให้คนออกมาเรียกร้องแล้วบอกว่าต้องทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยเห็นต่างได้แต่ต้องเคารพความเห็นต่างแต่ ไม่ใช่ความเห็นต่างนั้นจะนำไปสู่ความแตกแยก เพราะยังมีสังคมอีกส่วนที่เห็นต่าง ส่วนข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ให้นายกฯ ลาออก ตนเองยืนยันและบอกกับนายกฯ ว่าห้ามลาออก เพราะหากนายกฯลาออกเท่ากับว่าเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยังเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย หรือผิดรัธรรมนูญ และบริหารบ้านเมืองผิดพลาด ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูประบบกษัตริย์ พูดเหมือนดี พูดเหมือนเท่ แต่สิ่งที่ผู้ชุมนุมไปปิดขบวนเสด็จ และแสดงอาการไม่บังควรนั้นถามกลับว่าเป็นสิ่งดีแล้วหรือไม่

นายอนุชายังเชื่อว่าทุกคนในสภา รักประเทศนี้ ยืนหยัดดูแลและปกป้องประเทศ ยืนหยัดดูแลและปกป้องประชาชน ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงกับลูกหลานที่กำลังทำตามความคิดหรือไม่รู้ว่าทำตามความคิดของใคร แต่สมาชิกรัฐสภาต้องไม่ลืมว่ามีความคิดเห็นแตกแยกและในแผ่นดินอยู่และหากไม่ช่วยกันระงับเพราะเล็งเห็นอะไรบางอย่างอยู่ภายภาคหน้าคนเหล่านั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

“หากพวกท่านเห็นว่าประชาธิปไตยควรที่จะมีทางออก ต้องเจรจาในความเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช่บังคับหรือขู่เข็ญว่าต้องทำอย่างไร เพราะการบังคับไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย นี่คือสังคมไทย ตนเองต้องการเห็นการเจรจาหาข้อยุติโดยสันติวิธี ช่วยกันหาทางแก้ไข และในสิ่งที่สังคมต้องการตัวช่วยให้ประชาชนมีความเบาใจว่าลูกหลานของจะปลอดภัย ให้ประชาชนมีความอุ่นใจว่าทุกคนในสังคมหันหน้าคุย และสิ่งที่อยากฝากสมาชิกรัฐสภาทุกคนก็คือพวกเราร่วมใจกันที่จะดูแลปกป้องแผ่นดินของเรา ดูแลปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ดูแลและปกป้องประชาชน ไม่ว่าเขาจะเห็นด้วย หรือเห็นต่าง” นายอนุชาระบุ