‘ชูศักดิ์’ ไม่เชื่อ ‘ประยุทธ์’ แก้ไข รธน. เสร็จ 3 วาระรวดภายใน ธ.ค. ชี้แค่พูดลดกระแสมากกว่า

‘ชูศักดิ์’ ไม่เชื่อ ‘ประยุทธ์’ แก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ 3 วาระรวดภายในเดือน ธ.ค. บอก แค่พูดลดกระแสมากกว่า

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้า และประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภา กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในเดือนพฤศจิกายนนี้ ในวาระ 1 วาระ 2 และวาระ 3 แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม แต่ไม่สามารถประกาศใช้ได้ เพราะต้องรอกฎหมายประชามติ ซึ่งในสัปดาห์หน้ารัฐบาลจะเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการทำประชามติ เพื่อให้ทำประชามติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า เห็นว่าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จในวาระ 1 2 และ 3 ภายในเดือนธ.ค. พิจารณาจากระยะเวลาแล้วมีทางทำได้อย่างเดียว คือลดขั้นตอนบางขั้นตอนลงโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด เช่น การพิจารณาในวาระที่ 2 แทนที่จะตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณา ก็อาจใช้กรรมาธิการเต็มสภา ซึ่งสามารถลดขั้นตอนและระยะเวลาลงได้อย่างน้อยก็ 30 – 40 วัน ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมไม่ได้มีเพียงร่างเดียว มีทั้งร่างที่ให้แก้ไขมาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร. และร่างอื่นๆ เช่น ร่างแก้ไขมาตรา 272 ร่างแก้ไขระบบเลือกตั้ง อีกทั้งยังมีร่างของประชาชนเตรียมบรรจุในระเบียบวาระด้วย ที่สำคัญแต่ละร่างยังมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญบางประการ เช่น ร่างแก้ไขเพิ่มเติมของฝ่ายค้านในการให้มี ส.ส.ร. ใช้วิธีให้เลือกตั้งทั้งหมด แต่ของรัฐบาลใช้วิธีเลือกตั้งบางส่วน แต่งตั้งหรือสรรหาบางส่วน ร่างของฝ่ายค้านเมื่อผ่านวาระ 3 แล้ว ให้ไปทำประชามติแล้วนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ แต่ของพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อผ่านวาระ 3 แล้ว นำขึ้นทูลเกล้าได้ทันที จะทำประชามติต่อเมื่อรัฐสภาไม่ผ่านวาระ 3 นอกจากนั้นยังมีปัญหาการทำประชามติ เพราะสมาชิกฝ่ายรัฐบาลบางส่วนและ ส.ว.บางส่วน เห็นว่าต้องไปทำประชามติก่อนการแก้ไข ว่าประชาชนเห็นด้วยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และยืนยันว่าจะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า จึงเห็นว่าความเห็นที่ไม่ลงรอยกันนี้เป็นสาระสำคัญ หากจะใช้กรรมาธิการเต็มสภาดูจะเป็นเรื่องยากเย็นมาก เว้นแต่ทุกฝ่ายจะเห็นว่า ต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาการเมือง มีคำสั่งมาถึงฝ่ายตนว่าอย่าเรื่องมาก ย่อมละเลิกความเห็นต่างก็ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง นอกจากนั้นถ้าจะทำให้เร็วอย่างที่ว่าก็จะต้องเร่งรัดในการทำกฎหมายประชามติ อาจต้องใช้วิธีการพิจารณาเป็น 3 วาระรวด โดยกรรมาธิการเต็มสภา แต่ตนก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะนี้ยังไม่เห็นร่างกฎหมายประชามติที่รัฐบาลจัดทำ ตนเชื่อว่าอาจมีปัญหาการห้ามประชาชนรณรงค์และกำหนดเป็นความผิดอาญาเหมือนกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งยังมีคดีความที่เอาผิดกับประชาชนผู้เห็นต่างค้างคาอยู่เป็นจำนวนมาก เหตุนี้ตนจึงไม่มีความมั่นใจในถ้อยแถลงของนายกฯ ดังกล่าว และเชื่อว่าเป็นการพูดเพื่อลดกระแสเสียมากกว่า