‘พุทธิพงษ์’ ยันจำเป็นต้องบังคับใช้กม.กับผู้ใช้โซเชียลที่กระทำผิด ย้ำไม่ได้ล่วงเกินสิทธิใคร

‘พุทธิพงษ์’ ยันจำเป็นต้องบังคับใช้กม.กับผู้ใช้โซเชียลที่กระทำผิด ย้ำไม่ได้ล่วงเกินสิทธิใคร

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) อภิปรายชี้แจงประเด็นการใช้กฎหมายเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ว่า ในฐานะที่เป็นภาครัฐ รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เนื่องจากในโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่ดี รวดเร็ว ทันสมัย แต่เนื้อหาในโซเชียลมีเดียในวันนี้มีความหลากหลาย ซึ่งมุมหนึ่งของผู้ชุมนุม พบว่า มีการใช้โซเชียลมีเดีย ที่มีเนื้อหากับสิ่งที่แสดงออกรุนแรง มีการใช้คำพูด ยุยง ปลุกปั่น ทำร้ายทำลายสถาบันหลักของประเทศทั้งใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่ได้น่ารักอย่างที่ทาง ส.ส. พูดเลย ซึ่งหากรัฐไม่บังคับใช้กฎหมาย แม้ว่าแพลตฟอร์มต่างๆ อยู่ต่างประเทศ แต่เรามีกฎหมายไทย จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายของไทย ถ้าละเลย จะบรรลุความตั้งใจที่จะให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างยอมรับ และเคารพความแตกต่างทางความคิดได้อย่างไร

ทั้งนี้ ภาครัฐทำในกรอบของคนที่เข้าข้อกฎหมายและมีความผิดจริง ส่วนคนอื่นที่ใช้โซเชียล รัฐไม่ได้ล่วงเกินสิทธิของใคร ทุกคนจึงยังใช้สื่อโซเชียลได้อย่างอิสระ ทั้ง 300,000 ยูอาร์แอลนั้น ดำเนินคดีจำนวน 2,000 กว่าราย เพราะดูคนที่มีความตั้งใจและละเมิดข้อกฎหมายจริงๆ วันนี้ทั้งเกือบ 3,000 คดีอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เราไม่ได้นิ่งเฉย และดำเนินการทางกฏหมายอย่างเคร่งครัด

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า เรื่องการปิดกั้นสื่อ ขอชี้แจงว่า สื่อหลายสื่อมีเจตนาที่เผยแพร่ภาพข่าวที่ทำร้ายจิตใจประชาชนคนทั้งประเทศ มีความตั้งใจที่จะจาบจ้วง ใช้คำพูด ใช้การอภิปราย ใช้การปราศรัย ถ่ายทอดออกไป ที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ หรือเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้คนใดคนหนึ่งเลย ถามคนไทยว่ายอมได้หรือไม่ เราเป็นคนไทยด้วยกัน เคารพกฎหมายเดียวกัน เมื่อทำผิดต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งส่วนตัวยังถูกต่อว่าด้วยซ้ำว่า ทำน้อยไป ทั้งหมดที่ดำเนินคดี หรือสื่อที่ส่งให้ศาล อาศัยกระบวนการยุติธรรม ขออำนาจศาล ไม่ได้ใช้ความรู้สึกของรัฐมนตรี ไม่ได้ใช้ความรู้สึกของรัฐบาลเลย แต่อาศัยคำสั่งศาล ซึ่ง 80% พี่น้องประชาชนส่งมาให้ และเจ้าหน้าที่รวบรวมส่งศาลใน 48 ชั่วโมง เมื่อมีคำสั่งศาลก็ส่งให้แพลตฟอร์มต่างๆ ทราบ รัฐจำเป็นต้องดำเนินการโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ สื่อทุกแขนงยังนำเสนอข่าวได้เต็มที่ เพียงแต่ขอให้อยู่ในข้อกฎหมาย หากมีเนื้อหาที่ละเมิดกฎหมาย ถ้าไม่ตั้งใจก็ขอให้ดำเนินการลบออก หากไม่ลบออกก็จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย

“รัฐมีจุดประสงค์ อยากให้การใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นที่ที่ปลอดภัย สะอาด เป็นที่ที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองได้ เพียงแต่ต้องไม่หยาบคาย ไม่กระทำผิดกฎหมาย และต้องยืนอยู่บนหลักที่เรายึดมั่น ยึดถือบนมาตรฐานเดียวกัน ยืนยัน ว่ารัฐบาลทำตามกฎหมาย และย้ำว่าจะดำเนินการทำต่อไป” นายพุทธิพงษ์ กล่าว