“ทวี”จี้”บิ๊กตู่”ลาออกแสดงความรับผิดชอบ! ชี้ปชช.ไม่เชื่อมั่นแล้ว ถ้ายังอยู่ต่อไม่เห็นอนาคต!

วันที่ 26 ต.ค.2563 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค และ ส.ส.พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายในการประชุมรัฐสภาร่วมระหว่างสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมัยวิสามัญ พิจารณาเรื่องด่วน ปัญหาสำคัญที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา

พ.ต.อ.ทวี ได้อภิปรายว่า ปัญหาหนึ่งที่มีความกังวลและห่วงใยมากคือ ปัญหาความคิดของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำประเทศ เพราะความคิดจะนำมาสู่คำพูด คำพูดจะนำมาสู่การกระทำ การกระทำซ้ำๆจะเป็นนิสัยและบุคลิกภาพ นายกรัฐมนตรีได้พูดก่อนจะสลายการชุมนุมว่า ” อย่าประมาทต่อชีวิตคนเราสามารถตายได้ทุกเวลา อย่าท้าทายกับ ท่านพญามัจจุราช ที่มีเสนามาก ” นี่คือความคิดของนายกรัฐมนตรีที่สะสมมาเป็นคำพูด หลังจากนั้นข้ามวันได้สั่งสลายการชุมนุมที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษา ที่ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ การสลายการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฏหมายรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้ที่ทุกหน่วยต้องยึดถือ

“เชื่อว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งสลายการชุมนุม เพราะเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์ร้ายแรง การสลายการชุมนุมต่อผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา และเยาวชน ถ้าจะดูอดีตให้ดูที่พิพิธภัณฑ์ ถ้าจะดูปัจจุบันให้ดูที่หน่วยปฏิบัติ แต่ถ้าจะดูอนาคตให้ดูที่นักเรียน ถ้าจะดูรัฐสภาปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 750 คน ประชาชนเลือกได้แค่ 350 คน เพราะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ส่วนที่เหลือประชาชนไม่ได้ใช้สิทธิเลือก ในรัฐสภาแห่งนี้ยังมีสมาชิกที่ประชาชนไม่ได้เลือก แต่มาจากการแต่งตั้ง มาจากอดีตทหาร ตำรวจ และบุคคลต่างๆทั้งที่ควรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามา”

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ความคิดของรัฐบาลเรื่อง สนับสนุนคนดี แตกต่างกับความคิดของประชาชนที่สนับสนุนความดีในสังคม คือความดีของราษฎรที่ย่อมรับว่าคุณค่าอะไรดีในสังคม การออกมาชุมนุมเพื่อให้สังคมดีขึ้น แต่ถ้าเป็นความคิดของคนดีส่วนใหญ่จะไปด้อยค่าว่าตัวฉันดีกว่าคนอื่น ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความคิดว่าการชุมนุมเป็นศัตรูกับนายกฯ ไม่เช่นนั้นคงไม่สั่งสลายการชุมนุม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีความยิ่งใหญ่มากในรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 44 ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยรับรองว่าการชุมนุมได้รับการคุ้มครอง แต่การที่นายกฯมองว่าการชุมนุมเป็นปัญหา มันคือปัญหาทางความคิดของนายกฯ การชุมนุมจำเป็นต้องเชิญชวนคนมาชุมนุม เพราะต้องทำให้เสียงของประชาชนของเด็กนักเรียน นักศึกษา ที่ไม่มีเสียงในสายตารัฐบาล ได้มีเสียดังขึ้น นี่คือเป็นประชาธิปไตยที่เจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยตรงได้แสดงออกตามรัฐธรรมนูญได้เขียนรองรับไว้ แต่นายกฯกลับมองว่าการชุมนุมของเด็กเป็นปัญหา

” ปัญหาหาปัจจุบันประชาชนผู้ชุมนุมไม่เชื่อมั่นต่อนายกรัฐมนตรี รัฐบาล และรวมถึงรัฐสภา เมื่อประชาชนไม่เชื่อมั่น จึงถือว่าประชาชนออกมาชุมนุมโดยใช้ประชาธิปไตยโดยตรง ดังนั้นเราต้องส่งเสริมและสนับสนุน และรัฐบาลต้องรับฟังและแก้ไข ประชาชนไม่ได้อยู่เพื่อรับใช้รัฐบาล แต่รัฐบาลต่างหากต้องอยู่เพื่อรับใช้ประชาชนและประเทศชาติ การไปพูดว่านักการเมืองอยู่เบื้องหลังการชุมนุมนั้น คำพูดเหล่านี้คือการดูถูก คนทุกคนมีความคิดสติปัญญา สามารถคิดกำหนดชะตาชีวิตตนเองได้ ไม่ต้องการให้ใครมาชักจูง พรรคร่วมฝ่ายค้านเราเห็นว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์ร้ายแรงไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่มีการสังหารคน 98 ศพกลางเมืองหลวง เห็นว่ารัฐได้ใช้อำนาจอิทธิพลอยู่เหนือกฎหมายและความยุติธรรม ใช้กฎหมายเล็กเหนือรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด มีการเลือกปฏิบัติ คนกลุ่มหนึ่งสามารถทำได้ แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งมีข้อหามากมาย จึงเป็นที่มาของความขัดแย้งและการชุมนุม จึงขอเรียนให้ฝ่ายรัฐบาลต้องมีความใจกว้างในการรับฟังความเห็นต่าง และต้องให้คุณค่าต่อการชุมนุม ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบสันติ ปราศจากอาวุธเป็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพที่สำคัญ ”

พ.ต.อ.ทวี ระบุด้วยว่า พี่น้องประชาชนในปัจจุบันกลัวพล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่าถ้ายังอยู่ต่อไปจะไม่มีอนาคต และย่ำแย่เช่นนี้ ประเทศไทยใช้งบกระทรวงศึกษาธิการมากที่สุดในอันดับต้นๆของโลก แต่งบการศึกษาไม่ได้ไปส่งเสริมสร้างสติปัญญาและความรู้ให้เกิดขึ้นกับนักเรียนนักศึกษา ท่านทราบหรือไม่ว่าในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ได้เพิ่มตำแหน่งอธิบดีในกระทรวงศึกษาฯอีก 18 คน รวมเป็น 64 คน แต่เงินที่จะไปถึงสมองเด็กมีเพียงแค่ 5-10% เท่านั้น ที่เหลือเอาไปสร้างรัฐราชการ ให้คนอื่น เด็กจึงออกมาเรียกร้องเรื่องการศึกษา การศึกษาไทยถูกมองว่าทำลายสมอง ทำให้คนไม่มีความรู้ที่เป็นสากล การศึกษาไทยจึงล้าหลังมาก ดังนั้นถ้านายกรัฐมนตรีเข้าใจว่าการออกมาชุมนุมเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องรับฟังอย่างจริงใจ

เลขาฯพรรคประชาชาติ ยังกล่าวถึงปัญหาสำคัญที่บางฝ่ายพยายามดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องว่า เชื่อว่าทุกคนมีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ มีคนกลุ่มหนึ่งอ้างว่าหวงแหนแสดงความเป็นเจ้าของ ถ้าไม่คิดแบบตนหรือไม่ทำแบบตนคือการไม่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ นี่คือสิ่งที่อันตรายมาก ความจงรักบางครั้งไม่จำเป็นต้องแสดงออก เช่นถ้าคนอังกฤษหวงแหนภาษาอังกฤษมาก ภาษาอังกฤษก็คงไม่มาถึงประเทศไทย เช่นเดียวกันถ้าคนจีนหวงแหนภาษาจีนมาก ภาษาจีนก็คงไม่มาถึงประเทศไทย ดังนั้นการไปประกาศว่าถ้าไม่ทำเหมือนตนคือการไม่จงรัก นี่คือเรื่องอันตราย ให้ดำเนินคดีเป็นรายบุคคลตามข้อเท็จจริงและหลักฐานตามกฎหมาย แต่ที่ต้องผิดมากกว่าคือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องถูกตรวจสอบแต่นายกรัฐมนตรีไม่ดำเนินการหรือสอบสวนต่อข้าราชการผู้ความรับผิดชอบเป็นเรื่องอันตรายมาก หากมีหน้าที่แล้วไม่ทำ จะมีความผิดอย่างแน่นอน พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย ต้องทำอย่างสมพระเกียรติ ตามพระราชประสงค์ และต้องมีความปลอดภัย ด้วยความเคารพ ผู้รับผิดชอบมีทั้ง ท่าน ผบ.ตร., ผบ.ทบ., ผบช.น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายกรัฐมนตรี ท่านปล่อยให้เกิดเหตุต่อสถาบันที่ควรพิทักษ์มากที่สุดได้อย่างไร ท่านจะไปเอาผิดคนอื่น ทั้งที่เป็นความรับผิดชอบต้องรับผิดด้วย

“หากเราจะนำสถาบันฯไว้เหนือเกล้า เป็นที่เคารพ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำทันทีคือหาผู้รับผิดชอบที่ปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ส่วนผู้กระทำผิดก็ว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม และหลักฐาน ความยุติธรรมไม่ได้อยู่ที่ความเชื่อหรือความรู้สึก แต่อยู่ที่ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐาน คือพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ พยานผู้เชี่ยวชาญ ถ้าไม่มีพยานเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นข้อเท็จจริง ถือว่าเป็นข่าว นายกรัฐมนตรีอาจจะต้องลาออก เพราะท่านดูแล พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้อย่างไร จึงขอเสนอแนะให้ตั้งคณะกรรมการอิสสระเพื่อสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา และรวบรวมพยานหลักฐานรอบด้าน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะมีความผิดพลาดต่อหน้าที่ที่รับผิดชอบ หากสังคมใดขาดความรับผิดชอบ หายนะจะตามมา ผู้รับผิดชอบโดยตรงคือนายกรัฐมนตรี ความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีจึงมีความสำคัญยิ่งตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พ.ต.อ.ทวี กล่าวย้ำว่า ความยุติธรรมที่พบว่าคนกลุ่มหนึ่งทำอะไรก็ไม่ผิด แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งทำอะไรก็ผิด ความไม่เป็นธรรมจึงทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมที่เพิ่มเติมมากขึ้น ตัวอย่างท่านนายกรัฐมนตรี ได้พักอาศัยที่บ้านพักในค่ายทหารซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนห้ามไว้ชัดเจน กรณีเช่นนี้อดีตท่านนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ทำรายการชิมไปบ่นไป ที่ไม่ได้ใช้เงินของรัฐ ยังถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่พล.อ.ประยุทธ์ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ขณะนี้เรื่องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่พบว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ องค์การอิสระ ได้แก่ กกต.และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้ให้พ้นสภาพคัดเลือกใหม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระอื่นยังอยู่ต่อ จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความยุติธรรมในคดีที่นายกรัฐมนตรีที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นที่จับตาอย่างยิ่ง