จุรินทร์ ขอทุกฝ่าย ถอนฟืนจากกองไฟ ชงตั้ง กก.หาทางออกวิกฤต เร่งแก้ รธน.ทันที

“จุรินทร์” ขอทุกฝ่ายชักฟืนออกจากกองไฟ ไม่ให้ลุกลามหนุนเร่งแก้ รธน.โดยไม่มีเงื่อนไข แนะตั้งคณะกรรมการหาทางออกเป็นรูปธรรม

เมื่อเวลา 09.40 น. วันนี้ (26 ต.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่ออภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 โดยก่อนการอภิปรายจะเริ่มต้นขึ้น ที่ประชุมรัฐสภาได้รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563

ต่อมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพราะเป็นวิถีทางประชาธิปไตยที่ทุกประเทศในโลกประชาธิปไตยเขาทำกัน เพื่อจะได้ให้รัฐสภาเป็นเวทีในการหาทางออกให้กับประเทศ การเปิดประชุมสมัยวิสามัญครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่สร้างเวทีโจมตีใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ให้รัฐสภาเป็นที่พึ่ง เป็นเวทีสะท้อนความคิดเห็น และเป็นเวทีในการแสวงหาทางออกให้กับประเทศอย่างแท้จริง เพื่อพิสูจน์ว่าเราเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาได้ เพราะการใช้เวทีอื่นอาจก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้ ซึ่งสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นตลอดการพิจารณา 2 วันนี้คือ ต้องการเห็นการอภิปรายที่สร้างสรรค์ ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความจริงใจ และไม่ซ้ำเติมสถานการณ์

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ทุกฝ่ายต้องช่วยกันลดเงื่อนไขที่เป็นปมแห่งความขัดแย้ง ต้องช่วยกันชักฟืนออกจากกองไฟ ไม่ให้ลุกลามออกโดยไม่จำเป็น และการแสวงหาทางออกที่เป็นรูปธรรมในสถานการณ์ขณะนี้คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 ทันทีที่สามารถทำได้ และไม่ควรมีเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติมจนสังคมเข้าใจว่าเป็นการยื้อเวลา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ทำประชามติหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภา และก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติเพิ่มเติมก่อนรับหลักการในวาระที่ 1 จนสังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าต้องการยื้อเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตนขอเสนอให้วิป 3 ฝ่าย ทั้งวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา หาคำตอบร่วมกันว่าจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจะพิจารณา 6 ร่างที่บรรจุในวาระไปก่อน หรือรอร่างของไอลอว์ที่ได้ชื่อว่าร่างของประชาชน

อย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณา 6 ร่างที่บรรจุวาระไปก่อนอาจถูกกล่าวหาได้ว่าต้องการทิ้งร่างของประชาชนหรือไม่ แต่ถ้ารอร่างของไอลอว์บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมก่อน ก็ต้องรออย่างน้อยหลังวันที่ 12 พ.ย. เพราะต้องรอขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อ ซึ่งอาจถูกครหาว่ารอเพื่อซื้อเวลาหรือไม่ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่วิป 3 ฝ่ายควรหาทางร่วมกัน เพื่อทำให้การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความราบรื่น

“การพิจารณาวันนี้ควรมีข้อยุติและมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การหาทางออกของประเทศร่วมกัน อยากเห็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยถือหลัก 3 ข้อคือ 1.องค์ประกอบนั้นต้องมีผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้แทนของรัฐบาล ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน วุฒิสภา ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ฝ่ายที่เห็นต่างกับผู้ชุมนุม และฝ่ายอื่นๆ เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น 2.ให้คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการแสวงหาคำตอบที่เป็นทางออกที่เป็นรูปธรรมให้กับประเทศ เน้นรูปแบบการจับเข่าคุยกันอย่างสร้างสรรค์ อาจต้องถอยคนละก้าวหรือคนละสองก้าวเพื่อมุ่งหาคำตอบและทางออกให้กับประเทศให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และ 3.ขอให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ซึ่งถ้าหากทำได้ อย่างน้อยที่สุดสถานการณ์บ้านเมืองจะคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง เพื่อให้คนทั้งประเทศเห็นแสงสว่างแห่งความหวังถูกจุดขึ้นตรงปลายอุโมงค์โดยรัฐสภา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประบอบประชาธิปไตยของเรา” นายจุรินทร์กล่าว