ไพบูลย์ หนุนบิ๊กตู่ เมินเสียงลาออก ชี้แค่คนไม่กี่หมื่น อีกไม่นานก็จะพ่ายแพ้ไปเอง

“ไพบูลย์” เปิดวอร์ อภิปรายอัดผู้ชุมนุมจาบจ้วง หนุน “บิ๊กตู่” อยู่ต่อ อย่าลาออกไม่ต้องสนเสียงคนไม่กี่หมื่น พร้อม เสนอทำประชามติว่าเห็นด้วยกับการชุมนุมหรือไม่

เมื่อวันนี้ (26 ต.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่ออภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 โดยก่อนการอภิปรายจะเริ่มต้นขึ้น ที่ประชุมรัฐสภาได้รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อน ประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563

จากนั้น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายว่า การชุมนุมที่มีการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์มีมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ถึงขนาดกระทำการขัดขวางรุมล้อมตะโกนด้วยถ้อยคำหยาบคายใส่ขบวนเสด็จ การกระทำของผู้ชุมนุมถือเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯ มีเป้าหมายหลักต้องการปฏิรูปสถาบัน แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นบุคคลที่เป็นเลิศในเรื่องที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน เป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งในการปกป้องสถาบัน แกนนำผู้ชุมนุมจึงเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก เพื่อให้การปกป้องประเทศชาติอ่อนแอลงจนนำไปสู่การรุกคืบต่อการปฏิรูป ตนจึงขอเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งทำหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ต่อไป ขอให้ให้บริหารประเทศด้วยความมั่นคง และเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ อย่าไปลาออกตามฝ่ายที่เรียกร้องซึ่งมีคนเพียงไม่กี่หมื่นคน ท่านต้องคำนึงถึงเสียงประชาชน 8.4 ล้านคน ที่เลือกท่านมาเป็นนายกฯ

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสถาบันหลายมาตรา และที่ชัดเจนคือการเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ไม่ได้กำหนดห้ามผู้เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพื่อเปิดช่องให้แกนนำเครือข่ายผู้ชุมนุม อดีตผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่ ได้รับเลือกเป็นส.ส.ร. การเรียกร้องให้นายกฯลาออก เพื่อนำไปสู่การสร้างรัฐธรรมนูญที่มุ่งไปสู่การปฏิรูปสถาบัน ซึ่งหากปรากฎว่าพรรคการเมืองใด ผู้บริหารพรรคการเมืองใด หรือส.ส.ของพรรคการเมืองใด ไปเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มที่ต้องการปฏิรูปสถาบัน หรือเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปสถาบัน จะเข้าข่ายสนับสนุนการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งเป็นคดีอาญา นอกจากนี้ ในการชุมนุมครั้งนี้นักการเมืองได้ใช้เยาวขนเป็นเครื่องมือในการแย่งชิงอำนาจ ตนขอประณามนักการเมืองที่แอบข้างหลังเยาวชนของชาติ ส่วนข้อเรีบกร้องให้ยุบสภา หากนายกฯกระทำแบบนั้นจะมีผลเสียหายโดยรวม

ตนจึงเสนอให้ใช้การออกเสียงประชามติ ให้ประชาชนทั้งประเทศมาออกเสียงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ต่อการจัดการชุมนุมในปัจจุบัน การออกเสียงประชามติทำได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 และอาจตราเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ว่าด้วยกาiออกเสียงประชามติ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ก็ได้ ซึ่งหากการออกเสียงประชามติเกิดขึ้นจะเท่ากับเสียงคนทั้งประเทศได้มีส่วนร่วม ในการออกเสียงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม และจะได้ข้อยุติซึ่งเป็นหลักการประชาธิปไตยทางตรง ไม่ใช่คนหลักหมื่นมาอ้างเสียงของประชาชนท้ังประเทศ ตนมั่นใจว่าประชาชนเสียงข้างมากกว่า 90% จะไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่จาบจ้วงสถาบันที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ว่า จะมีการออกเสียงประชามติหรือไม่ แกนนำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันในขณะนี้ย่อมไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั้งประเทศอยู่แล้ว ในที่สุดจะพ่ายแพ้ไปอย่างแน่นอนในเร็ววันนี้ ตนขอให้ประชาชนอีกกว่า 60 ล้านคน ออกมาพิทักษ์ รักษาชาติ ศาสนา และสถาบัน ให้จงได้