สอท.จี้ เอสเอ็มอี คุยแบงก์เคลียร์หนี้ สรท.วอนรบ.-แบงก์ชาติ ดูแลค่าเงิน

สอท.จี้ เอสเอ็มอี คุยแบงก์เคลียร์หนี้ สรท.วอนรบ.-แบงก์ชาติ ดูแลค่าเงิน

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ความคืบหน้าการชำระหนี้ของเอสเอ็มอีหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเมื่อวันที่ 25 ตค.ว่า หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงช่วยลูกหนี้แต่ให้ดูแลเป็นรายกรณีสำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่มีความสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ยังคงต้องพักชำระหนี้ต่อไปนั้น ส.อ.ท.อยู่ระหว่างแจ้งสมาชิกให้รับทราบ และหากใครมีปัญหาให้แจ้งกลับมา คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 3 เดือนนับจากนี้ ทั้งนี้ หากธนาคารเจ้าหนี้สามารถติดต่อและเจรจากับลูกหนี้ครบทุกรายก็เป็นเรื่องดี เพราะมาตรการจะเน้นช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจริง ส่วนผู้ที่ไม่เดือดร้อนจะเข้าสู่ภาวะจ่ายหนี้ตามปกติ

นายสุพันธุ์กล่าวว่า สำหรับมาตรการคนละครึ่งที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหนนั้น ต้องรอดูการใช้จ่ายหลังจากนี้ เพราะตอนนี้ยังลงทะเบียนไม่ครบ 10 ล้านสิทธิ ต้องดูว่าผู้ลงทะเบียนใช้จ่ายแล้วได้รับความสะดวกหรือไม่ และควรดูว่ามีผู้ใช้ประจำกี่เปอร์เซ็นต์ หากอยู่ระดับ 90-100% เป็นเรื่องดี แต่ใช้ระดับ 50-60% อาจต้องกลับมาพิจารณาว่าเหตุใดลงทะเบียนแล้วไม่ใช้สิทธิ อุปสรรคคืออะไร

นายสุพันธุ์กล่าวว่า กรณีเกาะสมุยพบหญิงชาวฝรั่งเศสติดโควิด-19 นั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว เพราะมาตรการต่างๆ ที่ไทยดำเนินการเข้มงวด และเชื่อว่าทุกคนเฝ้าจับตาดู ไม่น่ามีปัญหา และหลังจากไทยหยุดล็อกดาวน์ช่วงเดือนกรกฎาคม มีต่างชาติเข้ามากว่า 1 แสนคนแล้ว

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เรื่องการพักชำระหนี้ ในฐานะเอกชนได้เสนอต่อรัฐบาลตลอด เพื่อดูแลและกันไม่ให้ธุรกิจภาคเอกชนล้มลงไปทีเดียวพร้อมกัน ให้สามารถประคองตัวเองจนถึงช่วงที่การค้ากลับมาโดยไม่ต้องเริ่มต้นกิจการใหม่ ที่สำคัญคือ การจ้างแรง ให้แรงงานยังอยู่ในระบบต่อไปได้ ปัจจุบันมีบางกลุ่มอาจจะไปต่อไม่ไหวและน่าเป็นห่วง อาทิ ธุรกิจส่งออกยานยนต์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม หากมีการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ตอนนี้ก็สามารถพยุงตัวเองได้ เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ แล้วสามารถกลับมาเติบโตไป อย่างกลุ่มสิ่งทอ หากเปลี่ยนมาผลิตสินค้า อาทิ หน้ากากผ้า ก็มีโอกาสเติบโต หรือกลุ่มเกษตรและอาหาร หากปรับตัว ผลิตสินค้าให้กับลูกค้ารายย่อยโดยตรงจากเดิมเน้นส่งโรงแรม ภัตตาคาร ก็จะอยู่รอดได้

“อีกปัจจัยที่จะช่วยภาคเอกชน กลุ่มผู้ส่งออกได้มาก คือสถานการณ์ค่าเงิน ซึ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลายกลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ จึงอยากให้รัฐบาลประคองสถานการณ์ ดูแลไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป ทีมเศรษฐกิจชุดปัจจุบัน รวมทั้งผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ล้วนมีบทบาทในการกำกับการดูแลนโยบายการเงินการคลัง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการประคองเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตในภาวะที่เป็นอยู่ตอนนี้” นายวิศิษฐ์กล่าว