ชิลีเปิดคูหาลงประชามติ ชี้ชะตา “รธน.ยุคเผด็จการ” โพลชี้70%ต้องการฉบับใหม่

สำนักข่าว เอเอฟพี รายงานว่า เช้าวันที่ 25 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ชิลี เปิดคูหาให้ประชาชนลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน รัฐธรรมนูญยุคเผด็จการ ที่ถูกมองเป็นรากฐานความไม่เท่าเทียมของประเทศ

การลงประชามติตรงกับวันครบรอบ 1 ปี ที่ประชาชนมากกว่าล้านคนลงถนนชุมนุมย่านกลางใจกรุงซานเตียโก เมืองหลวง และถึงขั้นวิกฤต กลายเป็นความวุ่นวายในสังคม เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2562 คร่าชีวิต 30 ราย และหลายพันคนบาดเจ็บ หลายสัปดาห์ต่อมา ประธานาธิบดีเซบัสเตียน ปีเนเร จึงตกลงเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

คาดว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 14 ล้านคน จะออกมาลงประชามติเป็นจำนวนมาก แม้ว่าโควิด-19 จะระบาดอย่างหนัก ด้วยยอดผู้ติดเชื้อทะลุ 500,000 คน และยอดผู้เสียชีวิตเข้าใกล้ 14,000 ราย ขณะที่คูหาเลือกตั้งได้รับการฆ่าเชื้อและขยายเวลามากกว่าปกติ 2 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีเวลาเพียงพอและหลีกเลี่ยงความแออัดที่จะแพร่โควิด-19

รายละเอียดบัตรลงประชามติจะมีสองคำถาม คือ รับรอง หรือ ไม่รับรอง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และหากจำเป็น ควรให้คณะกรรมธิการชุดไหนเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สภาผสมที่มีฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชนอย่างละเท่ากัน หรือ องค์ประชุมสมาชิก 155 คน ที่มาจากพลเรือนทั้งหมด

ความต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาในรูปแบบการประท้วงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชนวนเกิดจากการปรับค่าโดยสารสาธารณะ กลายเป็นการประท้วงเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วเพื่อต่อต้านความไม่เท่าเทียมสังคมและเศรษฐกิจ ตกทอดมาจากการปกครองของ เอากุสโต ปิโนเช ประธานาธิบดีในรัฐบาลเผด็จการทหารระหว่างปี 2516-2533 ครอบคลุมทั้งสาธารณสุข การศึกษา และเงินบำนาญ

ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนชี้ว่า มากกว่าร้อยละ 70 สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และปฏิเสธแค่ร้อยละ 17

ผลการสำรวจยังชี้การสนับสนุนองค์ประชุมพลเรือนล้วนเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะได้รับการเลือกตั้งในเดือนเม.ย. 2564 ส่วนร่างรัฐธรรมนูญจากองค์ประชุมพลเรือนจะนำไปลงประชามติอีกครั้งในปี 2565

มาร์โซเล เมลยา นักรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยซานเตียโก กล่าวถึงจุดมุ่งหมายกระบวนการรัฐธรรมนูญดังกล่าวว่า ประการแรก คือ ละทิ้งเงาเผด็จการของปิโนเช เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยปราศจากตราบาปที่เกิดขึ้นภายใต้การใช้กำลัง

ส่วนประการที่สอง คือ เพื่อสามารถแก้ปัญหาด้วยช่องทางการเมืองและสันติวิธี แก้ปัญหาที่กลายเป็นโครงสร้างและทำให้การทำงานของประชาธิปไตยชิลีไม่เต็มที่ เช่น ความไม่เท่าเทียมและการกีดกันสังคม

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติสายอนุรักษ์นิยม เตือนว่า กระบวนการรัฐธรรมนูญอาจทำลายเสถียรภาพเศรษฐกิจหลายทศวรรษที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและขัดขวางการลงทุนจากต่างประเทศ อันเป็นความกลัวจากความรุนแรงที่มาพร้อมกับการประท้วง