อดีตขุนคลัง ชี้รัฐสภาต้องออกตัวจี้ประยุทธ์คลี่คลายวิกฤต เชื่อไม่เกินปีครึ่งมีเลือกตั้งใหม่

วันที่ 25 ตุลาคม 2563 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น ต่อการเปิดสภาวิสามัญเพื่อหารือแก้ไขสถานการณ์การชุมนุมขับไล่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้ก่อการรัฐประหารและผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารจนมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อนั้นว่า
พล.อ.ประยุทธ์ทำหนังสือขอหารือรัฐสภา ๓ เรื่อง
เรื่องที่ ๑. ความเสี่ยงโควิด
>> รัฐบาลอ้างว่าผู้นัดชุมนุมในลักษณะแออัดประชิดตัว ทำให้ฝ่ายสาธารณสุขเกรงว่าอาจเกิดโรคระบาดได้ง่าย
<< ผมวิจารณ์ว่ากรณีชุมนุมในอดีตนั้น เป็นความขัดแย้งเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อพรรคการเมืองหนึ่งอยู่ในอำนาจ แต่อีกกลุ่มหนึ่งต้องการจะเข้าสู่อำนาจแทน อันเป็นขบวนการเพื่อแย่งชิงประโยชน์ทางการเมืองล้วนๆ
แต่การชุมนุมครั้งนี้ ผู้ชุมนุมประกาศจุดมุ่งหมายปฏิรูปโดยมิได้ต้องการเข้าสู่อำนาจ อันเป็นขบวนการเพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคตของตนเอง ดังนั้น ถ้าหากรัฐบาลไม่รับฟัง การชุมนุมก็จะไม่จบ และไม่ว่าจะข่มขู่เรื่องโรคระบาดเพียงใด ก็จะไม่ทำให้ยุติได้
ทั้งนี้ มีคนบางกลุ่มที่เห็นว่ามีนักการเมืองหรือรัฐบาลต่างประเทศอยู่เบื้องหลัง แต่การชุมนุมที่แพร่กระจายหลายจังหวัด ที่สามารถนัดคนจำนวนมากผ่านโซเชียลมีเดียได้ภายในเวลาไม่นาน และชุมนุมหลายวันอย่างไม่ลดละ โดยทำเป็นช่วงเวลาสั้นๆ นั้น ย่อมจะต้องมีพื้นฐานจากจิตใจคนที่เห็นพ้องกันเป็นหลัก โดยไม่ต้องอาศัยเงินหรืออิทธิพลหนุนหลัง
เรื่องที่ ๒. เหตุการณ์ขบวนเสด็จ
>> รัฐบาลอ้างเหตุการณ์วันที่ ๑๔ ตุลาคม ที่ขบวนเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ เคลื่อนเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม มีการแสดงอาการไม่สมควรและเป็นการคุกคามเสรีภาพของผู้อยู่ในขบวนเสด็จพระราชดำเนินและผู้ถวายการอารักขา นายกรัฐมนตรีจึงอาศัยอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
<< ผมวิจารณ์ว่าสำนักนายกฯ ได้ออกหนังสือเวียนห้ามจอดรถบริเวณทำเนียบ อันเป็นการเตรียมพื้นที่รองรับพิพาทชั่วคราว เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ดังนั้น โดยสามัญสำนึกของวิญญูชน รัฐบาลจะต้องไม่วางเส้นทางผ่านพื้นที่พิพาทอยู่แล้ว
เนื่องจากขณะนี้มีหลายคนที่ตั้งข้อสงสัยว่าเกิดจาก พล.อ.ประยุทธ์สร้างสถานการณ์เพื่ออ้างเหตุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ หรือไม่ ซึ่งหากเป็นจริง ก็จะเข้าข่ายมีความผิดทางอาญาแผ่นดินที่รุนแรง ท่านจึงควรจะใช้โอกาสนี้ชี้แจงให้เป็นที่กระจ่าง
นอกจากนี้ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ท่านหนีไม่พ้นที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบ
เรื่องที่ ๓. การสลายการชุมนุม
>> รัฐบาลได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าสกัดและเรียกคืนพื้นที่ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ โดยอ้างว่าดำเนินการเป็นขั้นตอนการควบคุมฝูงชนตามมาตรการสากล แต่ยังมีการชุมนุมกันต่อมาอีกหลายครั้ง โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ปล่อยตัวผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว และยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งข้อเรียกร้องบางเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนการอยู่แล้ว น่าวิตกว่าอาจมีฝ่ายอื่นที่เห็นต่างกันหรือได้รับผลกระทบจากการชุมนุมออกมาจัดการชุมนุมเพื่อตอบโต้หรือต่อต้าน จนเกิดการปะทะกันอันจะเป็นการจลาจลในบ้านเมืองได้
<< ผมวิจารณ์ว่าวิธีคลี่คลายวิกฤตจะต้องเน้นรัฐศาสตร์มากกว่าการใช้กำลัง เพราะการสลายการชุมนุมทั้งที่ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบ นอกจากเป็นการเกินกว่าเหตุตามมาตรฐานสากลแล้ว ยิ่งกลับสร้างความเกลียดชังมากขึ้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า สาเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้าสู่อำนาจนั้น เกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองในแนวราบ แต่ตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้สมานฉันท์สลายความขัดแย้งแนวราบ กลับเพิ่มทำให้ประเทศตกเข้าไปอยู่ในความขัดแย้งแนวดิ่ง อันเป็นการผลักดันประชาชนบางส่วนให้แตกแยกไปสู่ฝั่งตรงข้ามกับสถาบัน ทั้งนี้ การที่รัฐบาลให้หน่วยงานของรัฐกระตุ้นให้กลุ่มชนออกมาต่อต้าน ก็มีแต่จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงสงครามกลางเมือง
ส่วนข้อกังวลว่าความขัดแย้งจะมีบุคคลแทรกแซงนั้น เมื่อกลไกทางศาลได้ผลักความขัดแย้งออกไปจากรัฐสภา ก็หนีไม่พ้นที่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองจะล้นลงไปสู่พื้นถนน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้บริหารสูงสุดจะต้องหาทางแก้จุดนี้ต่างหาก มิใช่ด้วยการปราบปรามสลายการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ
** ประเด็นอื่นที่รัฐสภาควรจะหารือ
>> ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ในขณะนี้ ทั่วโลกได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากโควิด และยังมีปัญหาหนี้สูญและคนตกงานที่ยังจะต้องปรับตัวกันอีกเป็นอันมาก ดังนั้น ตราบใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้กลยุทธ์เผชิญหน้าแข็งกร้าว ไม่มีกุศโลบายที่จะคลี่คลายความตึงเครียด ก็จะบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและนักลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติ และเศรษฐกิจไทยจะมีสภาพไหลลงบันไดเลื่อนอัตโนมัติ และคนที่จะตกงานและเดือดร้อนที่จะทวีจำนวนขึ้นอย่างมาก ก็จะนำไปสู่ความระส่ำระสายหนักขึ้นทุกวัน
>> ผลกระทบต่อภาพพจน์สถาบัน
สื่อต่างชาติที่รายงานเรื่องนี้ ไม่ได้เน้นคู่ขัดแย้งระหว่างผู้ชุมนุมกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่กลับเน้นเรื่องราวเกี่ยวกับสถาบัน เพราะเป็นข้อสนใจหลักของผู้อ่านในต่างประเทศ ดังนั้น ข้อมูลที่แพร่กระจายไปทั่วโลกจึงเป็นปัจจัยลบทั้งต่อภาพพจน์ของสถาบันหลักในประเทศไทยและต่อสังคมไทยโดยรวม อันเป็นการฉายภาพความขัดแย้งที่เกินจริง ทั้งที่ในข้อเท็จจริงผู้ชุมนุมจำนวนมากยังเคยชินและเชื่อมั่นในโครงสร้างของสังคมไทย และสถาบันเองก็เอื้อเฟื้อรับทราบข้อเสนอแนะปรับปรุง
การสื่อภาพไปต่างประเทศที่มิได้สะท้อนว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเสมือนหนึ่งเรื่องภายในครอบครัวระหว่างพ่อแม่กับลูก ที่ปรึกษาหารือกันได้ และแก้ไขปรับปรุงได้ จึงเป็นผลลบต่อประเทศอย่างหนัก
นอกจากนี้ มีคนจำนวนมากที่สงสัยว่าการที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มีมาตรการเพื่อปกป้องสถาบัน รวมไปถึงให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนกลุ่มเสื้อเหลืองเพื่อเปรียบเทียบกับผู้ชุมนุมนั้น ที่จริงเป็นการใช้มาตรการเหล่านี้เป็นฉากบังหน้าเพื่อกลบเกลื่อนจุดอ่อนของตนเอง หรือไม่?
ยิ่งนานวัน การกระทำของรัฐบาลยิ่งจะทำให้ประชาชนเข้าใจไปว่า รัฐบาลใช้ความจงรักภักดีสถาบันทำร้ายประชาชนและปกป้องตัวเอง อันเป็นบ่อเกิดของสังคมหลายมาตรฐาน และจะยิ่งตอกย้ำความขัดแย้งแนวดิ่ง หรือไม่?
ดังนั้น รัฐสภาจึงควรเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องหาทางคลี่คลายวิกฤตโดยเร็ว และถึงแม้จะต้องเสียสละตำแหน่งของตนเองเพื่อให้ประเทศและสังคมไทยอยู่รอด ก็ต้องทำ
โดยเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ให้รัฐสภาดำเนินการตามขั้นตอนและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ คัดเลือกบุคคลทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราวในระหว่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย และจัดให้มีการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือต่อไปภายในเวลาไม่เกินหนึ่งปีครึ่ง
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ