ส่งออกก.ย.ลบ3.86% พณ.เผยดีขึ้นรอบ3เดือน ชี้เกิดโควิดรอบ2กระทบแน่ต้นปีหน้า

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนกันยายน มีมูลค่า 19,621.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.86% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 17,391.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 9.08% จึงค้าเกินดุล 2,230.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยอัตราการหดตัวของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของไทยน้อยลงเป็นลำดับ แสดงถึงศักยภาพในการปรับตัวของธุรกิจทั้งฝั่งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ตามปัจจัยเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ในหลายประเทศ ส่งผลให้เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และควบคุมการเดินทาง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก(PMI)ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

ทั้งนี้ สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่เติบโตต่อเนื่อง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ สินค้าอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และ สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะส่งออกไปสหรัฐฯ และยุโรป โดยเดือนกันยายน มูลค่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัว 3.1% หลังจากหดตัว 3 เดือนติดต่อกัน ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 3.9 % และยังหดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน แต่ทิศทางหดตัวน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ภาพรวม 9 เดือนแรกปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 172,996.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7.33% การนำเข้า มีมูลค่า 152,372.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 14.64% และได้ดุลการค้า 20,623.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนแนวโน้มไตรมาส4/2563 จะมีโอกาสติดลบลดลง เฉลี่ย 3 เดือนสุดท้ายจะมีมูลค่ารวม 5.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือลบ 6% ทำให้ทั้งปี 2563 ก็จะทำให้การส่งออกทั้งปี 2563 ติดลบ7% มูลค่าประมาณ 2.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

“ช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่น่าจะมีปัจจัยกระทบต่อการส่งออกโดยตรง เพราะมีคำสั่งซื้อและการส่งมอบล่วงหน้าถึงปลายปีแล้ว หากมีเหตุการณ์อะไรหรือปัจจัยมากระทบอีก เช่น การระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 จนหลายประเทศล็อกดาวน์อีกครั้ง จะโชว์ตัวเลขในไตรมาสแรกปีหน้า ” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มการส่งออกปี 2564 ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญทั้งสหรัฐ และจีนคาดดีขึ้น การเลือกตั้งสหรัฐได้ประธานาธิบดีใหม่ ซึ่งทั้งนายโดนัลด์ ทรัมป์ และ โจ ไบเดน เชื่อว่าสงครามการค้าสหรัฐกับจีน(เทรดวอร์)ยังมีต่อเนื่อง เพียงแต่วิถีการอาจแตกต่างกัน และนโยบายการเข้าร่วมกรอบเสรีซีพีทีพีพี นโยบายพลังงานโลกที่มีผลต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ความชัดเจนการมีวัคซีนแก้โรคไวรัสโควิด-19 การพิจารณาการให้สิทธิพิเศษทางภาษี(จีเอสพี)ของสหรัฐและยุโรปต่อประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ส่วนการเมืองภายในประเทศ ไม่ได้มีผลโดยตรงต่อการส่งออกแต่กังวลกระทบต่อการลงทุนในอนาคตและความเชื่อมั่นต่อการค้าในระยะยาว หากลงทุนต่างชาติลดลง การนำเข้าทุนและวัตถุดิบเพื่อการผลิตส่งออกอาจลดลง ซึ่งขณะนี้ยังต้องติดตามการนำเข้าที่มีอัตราติดลบที่สูงกว่าการส่งออก