จิตแพทย์เตือนระวัง hate speech ส่งผลกระทบกว้าง แนะ 5 ข้อเลี่ยงเครียดเสพข่าว

จิตแพทย์เตือนระวัง hate speech ส่งผลกระทบกว้าง แนะ 5 ข้อเลี่ยงเครียดเสพข่าว

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม นพ.จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเรื่องความรุนแรงในรูปแบบการใช้ภาษาที่กระทบต่อสุขภาพจิต

นพ.จุมภฎ กล่าวว่า การใช้คำพูดหรือถ้อยคำด่าทอ เหยียดหยาม ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น เป็นความรุนแรงชนิดหนึ่ง เรียกว่า เฮทสปีด (Hate Speech) ซึ่งเกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ทั้งเรื่องของความคิดทางการเมือง รสนิยมทางเพศ สีผิว ศาสนา เชื้อชาติ การศึกษา เป็นต้น เฮทสปีดมีทั้งแบบตัวต่อตัว และการสื่อสารผ่านสื่ออออนไลน์ ที่มีอิสระในการพูดเนื่องจากพิสูจน์ตัวตนของผู้กระทำได้ยาก รวมถึงไม่ผ่านการกลั่นกรองแต่สามารถกระจายได้รวดเร็ว

“สื่อออนไลน์ มีผู้เข้าถึงได้มากซึ่งหากเป็นคนที่เชื่ออยู่แล้วก็จะทำให้คล้อยตามไปได้ แต่บางคนที่ไม่เชื่อก็จะทำให้เกิดการตอบโต้ทางออนไลน์ นับเป็นความรุนแรงประเภทหนึ่ง เกิดอารมณ์ขลุกขุ่นอยู่ภายใน นำไปสู่ความเครียดของฝ่ายที่ถูกกระทำ ความโกรธแค้น นำไปสู่การเอาคืน หากต่างฝ่ายต่างตอบโต้กันโดยไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องด้วยซ้ำไป เพราะมีเรื่องของอคติรวมอยู่ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างบาดแผลทางจิตใจให้ผู้อื่นด้วย การใช้เฮทสปีดผ่านสื่อออนไลน์ จะมีผู้ติดตาม ทั้งกลุ่มผู้ที่เห็นด้วยก็ติดตาม กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยก็ติดตามว่า วันนี้อีกฝ่ายจะว่ากล่าวอะไรถึงกลุ่มของเราอีก ก่อเป็นความเครียด ความเศร้า ความโกรธเคือง และบางครั้งจะแสดงออกทางกาย เช่น ปวดศีรษะ หายใจไม่อิ่ม ปวดกล้ามเนื้อ เบื่อหน่าย ท้อแท้ วิตกกังวล ซึมเศร้า” นพ.จุมภฎกล่าว

นพ.จุมภฎ กล่าวต่อว่า วิธีการจัดการกับเฮทสปีดทางการเมืองที่สำคัญคือ การคำนึงถึงบทบาทระหว่างบุคคล เช่น พ่อแม่กับลูก เพื่อนกับเพื่อน คนในครอบครัว ผู้ใหญ่กับวัยรุ่น ทุกคนมีบทบาทที่นอกเหนือจากการเห็นต่าง ยกตัวอย่างในบทบาทของครอบครัว แม้ว่าจะเห็นต่างกันอย่างไร เราก็ยังเป็นครอบครัว มีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อกัน ดูแลเรื่องอื่นของกันและกัน ดูแลชีวิตประจำวัน พูดคุยกันเรื่องอื่นที่นอกเหนือจากการเมือง เราจะต้องนึกถึงความสัมพันธ์ด้านอื่นที่ดีต่อกันและคงความสัมพันธ์ที่ดีไว้ ละวางความแตกต่างทางการเมืองและนึกถึงวันเวลาที่ดีร่วมกันมา

“กรมสุขภาพจิต ขอฝาก 5 คำแนะนำในการหลีกเลี่ยงความเครียดจากการเสพข่าวทางโซเชียลมีเดีย คือ ข้อที่ 1 มีสติรับรู้ ว่าขณะรับข่าวสารนั้นอารมณ์ของตนเองอยู่ในระดับใด หากรู้สึกเครียดและมีสัญญาณทางกาย เช่น นอนไม่หลับ ปวดเอ็นกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร ซึ่งจะนำไปสู่ข้อที่ 2 จัดสรรเวลาติดตามข่าวสารต่าง ๆ ให้เหมาะสม ข้อที่ 3 ดำเนินกิจวัตรประจำวันของตนเองอย่างปกติ อย่าติดตามเฉพาะข่าวสารอย่างเดียว เพื่อไม่ให้เสียบทบาทหน้าที่ของเรา ทั้งบทบาทการเรียนหนังสือ บทบาทพ่อแม่หรือเพื่อนที่ดี ข้อที่ 4 เคารพความหลากหลายทางความคิดและ ข้อที่ 5 หาเวลาพักผ่อน คลายเครียด เช่น การนอนหลับพักผ่อน ออกกำลังกาย การพักผ่อนต่าง ๆ ที่เคยทำ ก็ควรหาเวลาออกไปทำบ้าง” นพ.จุมภฎ กล่าว