นฤมล จับเข่าคุยคนพิการ 5 ประเภท หาทางช่วยฝึกอาชีพ สร้างงาน เท่าเทียมสังคม

นฤมล จับเข่าคุยคนพิการ 5 ประเภท หาทางช่วยฝึกอาชีพ สร้างงาน เท่าเทียมสังคม

วันนี้ (21 ตุลาคม 2563) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือความต้องการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการรองรับการประกอบอาชีพ โดยมีตัวแทนคนพิการ 5 ประเภท ประกอบด้วย สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) เข้าร่วม เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการ ปัญหา อุปสรรค และความต้องการความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทักษะเพื่อรองรับการประกอบอาชีพของคนพิการ

นางนฤมล กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการช่วยเหลือดูแลคนพิการ โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานบูรณาการกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือให้คนพิการและครอบครัว มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นไปตามแนวคิด “สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ” ภายใต้ภารกิจของกระทรวงแรงงาน

“กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทักษะให้กับคนพิการมาอย่างต่อเนื่อง แต่การดำเนินงานเพียงหน่วยงานเดียวนั้น ไม่สามารถช่วยเหลือผู้พิการที่มีอยู่เป็นจำนวนมากได้อย่างทั่วถึง จึงต้องบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จึงต้องร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมขึ้น โดยมีตัวแทนสมาคมคนพิการร่วมเป็นคณะอนุกรรมการด้วย เพื่อเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช) พิจารณาแต่งตั้งอีกครั้ง” นางนฤมล กล่าวและว่า การประชุมนี้ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่คนพิการ ความต้องการที่จะให้ภาครัฐช่วยเหลือ ทั้งการฝึกทักษะ การจ้างงาน และการสร้างความเสมอภาค

นางนฤมล กล่าวว่า ที่ประชุมได้เสนอข้อมูลและประเด็นต่างๆ เช่น ภาครัฐมีความต้องการจ้างงานคนพิการประมาณ 8,000 อัตรา แต่พบว่าไม่สามารถจัดหาคนพิการที่มีสมรรถนะตรงกับความต้องการได้ จึงเสนอให้มีการวิเคราะห์ตัวเลขดังกล่าว และหาแนวทางที่จะผลักดันให้คนพิการเข้าไปทำงานในภาครัฐได้ และภาครัฐควรเป็นตัวอย่างในการจ้างงานคนพิการ เพิ่มอัตราการจ้างให้สูงขึ้นเป็น 100 คน ต่อ 2 คน ขาดฐานข้อมูลการจ้างงานคนพิการ การส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการที่ต้องจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานเมื่อมีการจ้างคนพิการเข้าทำงาน นายจ้างบางส่วนที่ยังไม่ดำเนินการ จึงอยากให้กระทรวงแรงงานสร้างความเข้าใจให้นายจ้างกลุ่มดังกล่าว

“ส่วนกลุ่มคนพิการที่ไม่เห็นเชิงประจักษ์ เช่น ออทิสติก ฯลฯ กลุ่มนี้ต้องการการฝึกอบรมอาชีพ เช่น การฝึกอาชีพหลัง New Normal รวมถึงการมีระบบพี่เลี้ยง หรือ จ็อบ โคช (Job coach) จ็อบ คลับ (Job Club) ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน” นางนฤมล กล่าวและว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเสนอให้ช่วยผลักดันให้เอกชนจ้างงานคนพิการทุกประเภท เพื่อให้คนพิการที่ไม่เห็นประจักษ์ได้มีโอกาสเข้าทำงาน โดยต้องเป็นการจ้างงานอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การจ้างแบบปีต่อปี บูรณาการ ร่วมกันระหว่างหน่วยงานฝึกอบรมคนพิการหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยให้ กพร.หรือองค์การคนพิการเข้ามาร่วมกำกับดูแล จัดการฝึกอบรมให้ได้มาตรฐาน พัฒนาทักษะอาชีพคนพิการให้มีทักษะอาชีพที่หลากหลายขึ้น เช่น คนตาบอด จะต้องประกอบอาชีพได้มากกว่าการเป็นพนักงานนวด เช่น อาชีพโปรแกรมเมอร์ การขายออนไลน์ คอลเซ็นเตอร์

นางนฤมล กล่าวว่า หากคนพิการได้รับการฝึกอย่างจริงจัง จะสามารถเข้าทำงานในภาคเอกชนได้มากขึ้น ยกระดับคนพิการสู่ Social Enterprise มีการจัดมหกรรมสินค้าคนพิการเพื่อพิจารณาว่าสินค้าใดควรได้รับการสนับสนุนต่อไป โดยจัดหาตลาดรองรับการจำหน่ายสินค้าเหล่านั้น ตลอดจน ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ภาคเอกชนในการจ้างงานคนพิการ ประเด็นด้านอื่นๆ หากสามารถช่วยผลักดันและนำเสนอต่อรัฐบาลคือ ในเรื่องเบี้ยยังชีพ ให้คนพิการได้มีโอกาสเข้าถึงเบี้ยยังชีพคนพิการอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนพิการ การแบ่งโควต้าฉลากกินแบ่งรัฐบาลให้กับคนพิการ เพื่อให้คนพิการได้เข้าถึงการประกอบอาชีพได้อย่างแท้จริง เบื้องต้นให้ กพร.ทำหน้าที่เป็นหลักและนำเสนอรายงานปัญหาอุปสรรคด้านการจ้างงานคนพิการในภาครัฐ เช่น เรื่องกรอบอัตรา งบประมาณ ให้นายกฯ รับทราบต่อไป