โฆษกกอร.ฉ.ยัน รถไฟฟ้าปิดบริการ เป็นความสมัครใจบีทีเอสกับตร. เพื่อความปลอดภัยปชช.

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) โดย โฆษก กอร.ฉ. แถลงว่า กรณีที่สังคมตั้งคำถามเรื่องการปิดบีทีเอส และระบบขนส่งต่างๆ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการพูดคุยกับประชาชนไปแล้วหลายครั้ง วันนี้ขอชี้แจงทำความเข้าใจกับทุกท่านว่า การปิดขนส่งมวลชนต่างๆ เป็นไปเพื่อความปลอดภัยของประชาชน และเป็นการปิดชั่วคราว และเป็นความสมัครใจร่วมกันระหว่างบีทีเอสกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะทำอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ซึ่งการชุมนุมแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่มองว่า หากเกิดการทะเลาะวิวาทกัน แล้วตกลงไปบนรางรถไฟฟ้า ที่มีกำลังไฟฟ้าแรงสูง อาจจะมีคนได้รับอันตราย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเข้าไปทำลายข้าวของต่างๆ พังประตูรั้วรถไฟฟ้า หากไม่ปิด อาจจะมีเหตุลุกลามสร้างความเสียหายไปมากกว่านี้ สิ่งที่ภาครัฐกำลังทำเพราะห่วงชีวิตของทุกๆ คน รวมไปถึงผู้ชุมนุมด้วย

น.ส.กัญญ์ณาณัฏฐ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่องการปิดสื่อออนไลน์วอยซ์ทีวี ทุกแพลตฟอร์ม นั้น ทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วง และไม่ได้ต้องการปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชนแต่อย่างใด หากสื่อมวลชนนั้นนำเสนอข้อมูลข่าวสารออกไปบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ไม่ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นั่นหมายถึงต้องไม่เป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น หมิ่นสถาบัน ขณะที่อีก 3 สื่อ คือ ประชาไท, The standard, The reporters ขอให้หน่วยงาน กสทช. และ ดีอีเอส ไปไปทบทวนก่อน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจที่จะพูดคุยกับสื่อมลชน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน ในสิ่งที่จะนำเสนอนั้น ควรจะไปในทิศทางใด เพื่อสร้างความสงบสุขและสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม

สำหรับกรณีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อลดแรงกดดันต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ทางสภามองว่าน่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่จะเปิดให้ผู้แทนทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ได้รับข้อมูลข่าวสารมาพูดคุยร่วมกันในการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่วนวันและเวลาขอให้ประธานสภาเป็นผู้แจ้งความชัดเจนให้ทราบอีกครั้ง

น.ส.กัญญ์ณาณัฏฐ์ ยังกล่าวอีกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง มีสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ในแง่มิติทางสังคม เราเห็นภาพชัดเจนว่าการใช้ชีวิตประจำวัน การใช้รถใช้ถนนเป็นไปด้วยความยากลำบากในบางพื้นที่ ซึ่งประชาชนบางส่วนอาจไม่ได้ติดตามข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียตลอดเวลา และบางคนเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการรวมกลุ่มชุมนุม ก็ไปเจอรถติด วิถีการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ขณะที่ในมิติเศรษฐกิจ บางครั้งที่ผู้ชุมนุมไปรวมตัวกันหน้าห้างสรรพสินค้าต่างๆ ห้างไม่ได้ปิด แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่ไม่กล้าไปเดินห้างซื้อของ เนื่องจากห่วงความปลอดภัย ห่วงเรื่องการจราจร รัฐไม่ได้สั่งปิด ห้างเองก็ไม่ได้สั่งปิด พอคนไม่ไปซื้อของการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้น