ลุ้น! คำสั่งศาลปิด 3 แพลตฟอร์มออนไลน์หรือไม่ หลังจอดำ ‘วอยซ์ทีวี’

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส แถลงข่าวร่วมกับกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) เผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง มีคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ดีอีเอสดำเนินการตรวจสอบและระงับการเผยแพร่ของสื่อที่เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ทางดีอีเอสได้ตรวจสอบ ประมวลโดยฝ่ายกฎหมาย เสนอศาลปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกช่องทางของสื่อ 4 องค์กรคือ วอยซ์ทีวี ประชาไท The Reporters และ The Standard ซึ่งล่าสุดมีคำสั่งจากศาลสั่งปิดทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ของวอยซ์ทีวีแล้ว ส่วนอีก 3 สื่อยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา

นายภุชพงค์กล่าวว่า กรณีของวอยซ์ทีวีนั้นเนื่องจากเข้าข่ายหลายองค์ประกอบความผิด ทั้งขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในที่นี้รวมถึง พ.ร.บ.คอมพ์ด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการขออำนาจศาลสั่งปิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงไม่สามารถอุทธรณ์ได้ แต่หากจะไปเปิดยูอาร์แอลใหม่ก็เป็นสิทธิ แต่ต้องไม่ผิดกฎหมาย

นายภุชพงค์กล่าวอีกว่า บทบาทของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเกี่ยวกับการดำเนินการของการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่ามีการเฝ้าระวังการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ในทุกด้านทุกแพลตฟอร์ม เมื่อพบการกระทำความผิดจะรวบรวมพยานหลักฐานและเสนอเรื่องขอความเห็นชอบต่อศาลให้มีคำสั่งปิดกั้น หลังจากนั้นประสานการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป นอกจากนี้ หลังจากมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 กระทรวงดีอีเอสได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การชุมนุมในการประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคงพิจารณาการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และประสานงานการตรวจพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับความผิดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และดำเนินการร้องขอคำสั่งศาลในการระงับหรือลบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย

นายภุชพงค์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีแอพพลิเคชั่นเทเลแกรม (Telegram) ศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การชุมนุมกระทรวงดีอีเอสตรวจพบการใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าวในการนัดหมายเชิญชวนชุมนุม ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จึงแจ้งเรื่องต่อไปยัง ผบ.ตร. ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทราบและพิจารณาข้อมูลดังกล่าว หลังจากนั้นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้มีสั่งที่ 11/2563 เรื่องระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะโดยให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการเพื่อให้ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ (เทเลแกรม) ขอเรียนว่ากระทรวงดีอีเอสได้ดำเนินการตามหน้าที่อย่างเคร่งครัดตามขั้นตอนตามกฎหมาย และมีการขอความเห็นชอบต่อศาลมาโดยตลอด ไม่มีการทำเกินอำนาจหน้าที่หรือเลือกปฏิบัติโดยเคารพสิทธิการเข้าถึงสื่อทุกประเภทของประชาชนโดยเสรีภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ หน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลในภาวะปกติมีสองศูนย์ ศูนย์แรก คือศูนย์เฝ้าระวังความผิดทางเว็บไซต์ ศูนย์ที่สอง คือศูนย์ต่อต้านข้าวปลอม หรือเฟคนิวส์ ซึ่งหลังจากที่เหตุการณ์ชุมนุมก็ได้มีการรวมการทำงานของทั้งสองศูนย์เพื่อเฝ้าระวังการกระทำความผิดทางอินเตอร์เน็ตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ จากต่างประเทศ เช่น ยูทูบ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และเทเลแกรม เป็นต้น

โดยจะรวบรวมหลักฐานและขอคำสั่งศาล เมื่อศาลมีคำสั่งก็จะแจ้งไปยังผู้บริการอินเตอร์เน็ต หรือแพลตฟอร์มจากต่างประเทศเหล่านั้นเพื่อทำการปิดเฉพาะแอคเคาต์ที่กระทำผิด ไม่ได้ปิดทั้งหมด แต่ตั้งแต่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินเราก็ได้ร่วมทำงานกับศูนย์ กอร.ฉ. โดยจะมีการรายงานการกระทำผิด ซึ่งในสองวันที่ผ่านมาสามารถตรวจสอบพบผู้กระทำความผิดแล้วกว่า 300,000 ราย ที่เข้าข่าย และที่พบต้นโพสต์มีความชัดแจน 58 ราย เมื่อวานนี้ 46 ราย วันนี้ 12 ราย โดยสิ่งที่ทางดีอีเอสทำยึดตามหลักกฎหมายและสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้สื่ออินเตอร์เน็ตทุกคน เราจะพยายามดูเพื่อไม่ให้กระทบในภาพกว้าง สำหรับผู้กระทำความผิดจะมีโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และความผิดตาม ป.วิอาญา