เคมบริดจ์ชี้คนรุ่นใหม่ ’ไม่พอใจ-ผิดหวัง’ ประชาธิปไตย

เคมบริดจ์ชี้คนรุ่นใหม่ ’ไม่พอใจ-ผิดหวัง’ ประชาธิปไตย

ผลวิจัยซึ่งจัดทำขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ตั้งอยู่ในอังกฤษชี้ว่า คนหนุ่มสาวมีความพึงพอใจกับประชาธิปไตยน้อยลง และยังรู้สึกผิดหวังกับประชาธิปไตยมากกว่าคนยุคใดๆ ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา

เคมบริดจ์ระบุว่า คนยุคมิลเลนเนียล หรือคนที่เกิดในช่วงปีค.ศ. 1981-1996 ที่มีอายุ 39-24 ปีอยู่ในขณะนี้ รู้สึกผิดหวังกับประชาธิปไตยมากกว่าคนเจนเอ็กซ์ ที่เกิดในช่วงปี 1965-1981 ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือคนที่เกิดในยุคเบบี้บูมในปี 1944-1964 ซึ่งหมายถึงผู้สูงวัย และคนที่เกิดยุคสงครามในปี 1918-1943

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์พบว่า คนรุ่นหนุ่มสาวทั่วโลกไม่เพียงแต่ไม่พอใจกับประชาธิปไตยในปัจจุบันมากกว่าคนรุ่นเก่า แต่ยังมีรู้สึกไม่พอใจมากกว่าคนรุ่นเก่าเมื่ออยู่ในช่วงวัยเดียวกันอีกด้วย

ทั้งนี้ภูมิภาคที่มีความรู้สึกดังกล่าวมากที่สุดคือยุโรป อเมริกาเหนือ แอฟริกา และออสเตรเลีย ส่วนประเทศที่ภาพลักษณ์ของประชาธิปไตยถึงขั้นเลวร้ายในสายตาคนรุ่นนี้คือสหรัฐอเมริกา บราซิล เม็กซิโก แอฟริกาใต้ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และอังกฤษ

อย่างไรก็ดียังมีประเทศที่มีความพึงพอใจต่อประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นประกอบด้วยเยอรมนี เกาหลีใต้ และประเทศส่วนใหญ่ที่พ้นจากยุคคอมมิวนิสต์ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่พึงพอใจดังกล่าวในหมู่คนรุ่นใหม่คือความไม่เท่าเทียมกันของความร่ำรวยและรายได้ โดยจากตัวเลขชี้ว่าชาวมิลเลนเนียที่มีสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของประชากรสหรัฐ แต่มีความร่ำรวยรวมกันเพียง 3% เท่านั้น ขณะที่คนยุคเบบี้บูมมีความร่ำรวยถึง 21% เมื่ออยู่ในอายุช่วงอายุเดียวกัน

ผลวิจัยแนะนำว่าแนวคิดประชานิยมที่เน้นความต้องการของคนเฉพาะกลุ่มในปัจจุบันกำลังเป็นสิ่งท้าทายแนวทางหลัก อย่างไรก็ดีสถาบันทางการเมืองแบบดั้งเดิมสามารถมีส่วนช่วยพัฒนาการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตยและช่วยพยุงไม่ให้เกิดความเสื่อมถอยลงไปอีกได้

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยด้านอนาคตประชาธิปไตยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 4,800,000 คนใน 160 ประเทศ ตั้งแต่ปี 1973-2020