นิ้วกลม เขียน ขอบคุณความกล้าหาญ จากนี้ขอเป็นส่วนหนึ่งร่วมชุมนุม รับที่ผ่านมาขี้ขลาด  

นิ้วกลม เขียนขอบคุณความกล้าหาญ จากนี้ขอยืนข้าง ร่วมต่อสู้ความไม่เป็นธรรมในสังคม รับที่ผ่านมาขี้ขลาด กลัวถูกเกลียด  

วันนี้ (19 ต.ค.) นายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือ นิ้วกลม นักเขียนชื่อดัง ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง “ขอบคุณความกล้าหาญ” ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า

“ภาพและคลิปที่ผู้ชุมนุมยืนเรียงแถวแล้วส่งต่อของไปเรื่อยๆ รวมถึงการส่งเสียงเพื่อสื่อสารกับ ‘เพื่อน’ ผู้ร่วมชุมนุมเป็นทอดๆ ทำให้รู้สึกถึงพลังของ ‘ประชาชน’ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้จริงๆ และทำให้เห็นว่าทุกคนล้วนสำคัญด้วยกันทั้งนั้น

ความรู้สึกเช่นนี้เป็นความรู้สึกที่มีพลังมาก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ทำให้ย้อนกลับไปมองว่าอะไรหรือใครกันหรือที่ทำให้ผู้คนมากมายกล้าหาญและตื่นตัวกันขนาดนี้ ผมนึกถึงอะไรหลายอย่าง ผู้คนหลายคนที่ขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้กับความไม่ถูกต้องมายาวนาน หลายคนที่พยายามอธิบายปัญหาเชิงโครงสร้างให้เข้าใจ ผมเรียนรู้ผ่านนักวิชาการ อาจารย์ นักเขียน สำนักพิมพ์ และสื่อที่ทุ่มเททำงานหนัก (สนพ.อย่างฟ้าเดียวกัน อ่าน วิภาษา สมมติ สามัญชน มติชน ฯลฯ นักเขียนจำนวนมาที่ไล่ชื่อไม่หมด สื่อ ดารา นักร้อง ผู้กำกับ และอีกหลายคนซึ่งไม่สามารถกล่าวได้หมด) องค์กรด้านกฎหมายอย่าง iLaw ที่ต่อสู้และให้ความรู้ต่อเนื่อง ผมเฝ้ามองนักศึกษา นักเรียน หนุ่มสาว ที่ต้องคารวะในความกล้าหาญของพวกเขาอย่างยิ่ง มีผู้คนมากมายหลายคนที่เสี่ยงภัยทั้งที่ถูกกระทำจากผู้มีอำนาจ บางคนเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธงาน ถูกแฟนๆ เลิกติดตาม หลายคนถูกจับ และน้องๆ อีกหลายคนต้องทะเลาะกับพ่อแม่ ครูอาจารย์ บางคนถูกตัดญาติ เพื่อนแอนตี้เพราะทัศนะทางการเมืองไม่ตรงกัน รวมถึงอีกหลายคนที่เผชิญหน้ากับการสลายการชุมนุมอย่างกล้าหาญ คนเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับ ‘ประชาชน’ ผู้ทรงพลังที่ยืนเรียงแถวกันในม็อบแล้วส่งต่อของหรือส่งเสียงบอกต่อกันไปเป็นทอดๆ

ทุกคนล้วนสำคัญทั้งนั้น

เพราะผมเชื่อว่า ความกล้าหาญและทุ่มเทของคนหนึ่งคนนั้นเขย่าหัวใจของคนที่ยังลังเลว่าจะแสดงออกอย่างไร เป็นแรงกระเพื่อมไปเรื่อยๆ

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ขี้ขลาด แน่นอนว่า ถ้าเป็นเพื่อนใกล้ชิดย่อมรู้กันดีว่า ผมอยู่ข้างฝั่งประชาธิปไตยและไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของคสช. มาโดยตลอด แต่ผมไม่กล้าหาญพอที่จะแสดงทัศนะที่ชัดเจนต่อสาธารณะ และคิดเสมอว่ายังอยากพูดคุยกับคนที่คิดไม่เหมือนกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองกันด้วยเหตุผลอยู่เสมอ กระทั่งถึงตอนที่พิมพ์อยู่นี้ และแสดงออกเป็นครั้งคราวในช่วงเวลาที่คิดว่าต้องส่งเสียงออกไปบ้าง แต่เทียบกับคนที่ทุ่มเทแล้วก็เหมือนเสียงกระซิบ

ผมกลัวถูกเกลียด – ชัดๆ ตรงๆ นี่คือรากความกลัว

แต่ในคืนวันสลายการชุมนุม หัวค่ำวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีเพื่อนๆ น้องๆ ที่รู้จักกันหลายคนอยู่ในม็อบ บางคนแสบตาจากสารเคมีสีฟ้าที่ฉีดเข้ามาในม็อบซึ่งชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ บางคนวิ่งหนีอย่างโกลาหลด้วยความตระหนกตกใจ ทำให้รู้สึกโกรธ เศร้า สิ้นหวัง และไม่อาจแสดงออกเฉพาะในกลุ่มเพื่อนได้อีกต่อไป เพราะรับรู้ถึงความทุกข์และเจ็บปวดจาก ‘เพื่อน’ ทั้งที่เป็นเพื่อนใกล้ชิดและเพื่อนร่วมสังคม

ผมอ่านสเตตัสของตุล-คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ที่บอกว่าความรู้สึกเวลาไปม็อบคือต้องการไป ‘อยู่ตรงนั้น’ เคียงบ่าเคียงไหล่กับเพื่อน ซึ่งหมายถึงคนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในสังคมไทยในสภาพที่เป็นอยู่ เวลาใครไปม็อบ เขาจะบอกว่า “แล้วเจอกัน” ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะเจอไหม แต่ ‘เจอกัน’ นั้นหมายถึงการส่งกำลังใจและยืนยันว่า ‘กูอยู่ข้างมึง’ ผมซาบซึ้งใจกับ ‘เพื่อน’ ในความหมายนี้

ไม่ใช่แค่เพื่อนที่เราคบหากัน แต่คือเพื่อนที่เดือดร้อนและทุกข์ทนกับอำนาจที่ไร้ความเป็นธรรม ระบบโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่ทำให้ความเป็นอยู่ สิทธิ เสรีภาพ สวัสดิการ การตรวจสอบไม่สามารถนำมาถกเถียงได้อย่างเสรีและเท่าเทียมกัน

ฉะนั้น เพื่อนจึงช่วยเพื่อนร่วมผลักดันให้เกิด #การเมืองดี เพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

หลายคนพูดชัดว่า ไม่ได้ต่อสู้กับตัวบุคคล แต่กำลังต่อสู้กับโครงสร้าง กฏกติกา และความไม่ถูกต้อง สิ่งที่พวกเขากำลังต่อสู้มิใช่เพื่อโค่นล้มสถาบันใด หากคือต้องการชวนคิดชวนคุยด้วยเหตุผลเพื่อปรับเปลี่ยนในสิ่งที่สามารถเปลี่ยนปรับให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย สิ่งเหล่านี้สามารถทำได้หากฝ่ายมีอำนาจรับฟัง และออกแบบวิธีเพื่อเปิดพื้นที่ให้เสียงที่หลากหลายได้แลกเปลี่ยนกัน และมีส่วนร่วมในการหาทางออกร่วมกัน มิใช่เอาแต่กดทับและปราบปราม

ผมอ่านสเตตัสของหมออ๊อฟ (เพื่อนในเฟซบุ๊ก) ซึ่งเขียนว่า คนที่ไม่ยอมแสดงตัวว่าเลือกสนับสนุนฝ่ายไหนเพราะคิดว่าทุกฝ่ายล้วนสกปรก ทุกฝ่ายล้วนมีคนชั่วหรือพฤติกรรมแย่ๆ อยู่ในนั้น ซึ่งในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น ใครๆ ก็รู้กันว่าทุกฝ่ายหรือทุกม็อบก็ต้องมีคนที่ทำพฤติกรรมแย่ๆ เลวๆ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ไม่ส่งเสียงสนับสนุน ‘ประเด็นสำคัญ’ ของการเคลื่อนไหว เพราะระหว่างขับเคลื่อนไป เราก็วิพากษ์วิจารณ์คนที่ทำผิดในฝั่งเดียวกันได้ด้วย ตักเตือนกันได้ และการเป็นสมาชิกในสังคมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจำเป็นต้องยอมร่วมขบวนที่มีริ้วรอยแปดเปื้อนบ้าง หากคงตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่องตลอดก็จะไม่ได้ใช้พลังของตัวเองเลย – อ่านจบ ผมรู้สึกว่าสเตตัสนี้เขย่าใจตัวเองไม่น้อย

ผมเป็นคนหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น และเห็นด้วยกับหมออ๊อฟและตุลว่า การร่วมทุกข์ร่วมสุขเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นคือการร่วมทางไปด้วยกัน ย่อมมีรายละเอียดที่ชวนหงุดหงิดหรือคลุกดินคลุกฝุ่นบ้าง หากนั่นแหละคือหนทางของความรู้สึก ‘เป็นพี่เป็นน้อง’ ทางสังคม

อย่างน้อยผมก็ยังรู้สึกโอเคที่ตัวเองรู้สึกรู้สากับผู้ชุมนุมในวันสลายม็อบ ผมคิดว่า ในฐานะคนในสังคมเดียวกัน แม้คิดแตกต่าง อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรถึงขั้นสะใจเมื่อเกิดการกระทำรุนแรงขึ้นไม่ว่ากรณีใด (เหตุใดการสลายชุมนุมจึงรุนแรง มีผู้อธิบายไว้มากมายแล้ว)

และต้องยอมรับว่า ภาพการสลายการชุมนุมซึ่งจัดขึ้นในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และพร้อมแยกย้ายในค่ำคืนเดียว แถมยังเต็มไปด้วยเยาวชนในค่ำคืนนั้น ทำให้รู้สึกว่า อย่างน้อยก็ขอเป็นอีกคนหนึ่งที่ยืนข้างๆ เพื่อนพี่น้องที่กำลังต่อสู้กับความไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม

ผมเองไปร่วมชุมนุมมาบางครั้ง แต่ไม่ได้แสดงออกในที่สาธารณะ เพราะอย่างที่บอกว่า ขี้ขลาดเกินกว่าจะทำ ถึงวันนี้ผมอยากขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่แสดงออกในทุกวิธี ที่ช่วยเพิ่มความกล้าหาญให้ตัวผมเองมากขึ้น

ยิ่งคนออกมามาก ยิ่งปลอดภัย – ผู้ชุมนุมมักบอกกันแบบนี้

ผมคิดว่า การแสดงออกทางการเมืองไม่ควรเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย แม้คิดไม่ตรงกันก็ฟังกันได้ แลกเปลี่ยนกันได้ แต่ถ้าผิดหวังและทนไม่ไหวจริงๆ หากต้องแยกทางก็คงจะต้องเป็นไปตามนั้น วันข้างหน้าอาจมีเหตุบางอย่างทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้นก็เป็นได้

ผมเองเคารพทุกความคิดเห็น ความศรัทธา และความรู้สึก ยกเว้นความรู้สึกสะใจหรือยินดีที่ได้เห็นคนอื่นถูกกระทำรุนแรงและคุกคาม ผมคิดว่าความรู้สึกเช่นนี้เป็นภัยต่อตัวท่านเองและเป็นพิษต่อสังคม

สำหรับเพื่อนพี่น้อง ญาติ และผู้อ่านผู้ชมทุกคนที่คิดไม่เหมือนกัน ผมยังเคารพรักและปรารถนาดีต่อทุกคนไม่เปลี่ยนแปลง อย่างที่เคยเขียนไป–เรายังคบกันได้ แต่ถ้าใครหงุดหงิดใจจนอยากแยกทางกันไปก็เข้าใจเช่นกันครับ

เขียนมาทั้งหมดเพื่อขอบคุณทุกคนที่ทำให้ผมกล้าหาญขึ้น เพื่อน น้อง พี่ ทุกคนจริงๆ ครับ ผมขอเป็นส่วนหนึ่งกับ ‘เพื่อน’ ร่วมสังคมที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้เป็นธรรมมากขึ้น ขอต่อแถวส่งหมวกส่งร่มและส่งเสียงอยู่ในขบวนการชุมนุมโดยสงบด้วยคน

แล้วเจอกันครับ

III”