‘จุรินทร์’ นำปชป.แถลง ปัดถอนตัวร่วมรัฐบาล หวั่น ยุบสภาตอนนี้ ก็ยังเลือกตั้งในกติกาเดิม

ปชป. หนุนเปิดวิสามัญฯ-เตรียมเสนอครม.เป็นเจ้าภาพใช้ม.165 อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติถกปัญหาม็อบ “จุริทนร์”กอดรัฐบาลแน่น ลั่นไม่ยึดติด เหตุยังมีภารกิจดันแก้รธน.ให้เสร็จโดยเร็ว ชี้หากถอนตัว ยุบสภา เลือกตั้งใหม่กติกาก็เหมือนเดิม

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหาร(กก.บห.)พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ รมว.พาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาสถานการณ์ทางการเมือง

จากนั้นเวลา 16.00 น. นายจุรินทร์แถลงภายหลังการประชุมว่าพรรคได้ติดตามสถานการณ์การเมืองโดยใกล้ชิดและมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์บ้านเมืองเช่นเดียวกับประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะกรณีที่มีผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งพรรคมีจุดยืนว่า1.พรรคยึดมั่นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นอุดมการณ์ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมา 2. พรรคเห็นว่าการแก้ปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันควรใช้แนวทางสันติไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะโดยฝ่ายใด และ3. พรรคเห็นว่าทางออกของสถานการณ์ทางการเมืองควรจะมีการใช้รัฐสภาเป็นเวทีหาทางออกให้กับประเทศภายใต้การรับฟังและการแสวงหาความร่วมมือร่วมใจ และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า พรรคมีความเห็นว่ารัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อให้รัฐสภาเป็นเวทีหาทางออกของปัญหาให้กับประเทศได้อย่างชัดเจน และควรจะใช้เวทีรัฐสภาเร่งรัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยควรเร่งดำเนินการเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่1 ขั้นรับหลักการทันทีที่สามารถทำได้และไม่ควรมีเงื่อนไขใดๆที่จะนำไปสู่การทำให้สังคมเกิดความเข้าใจว่ามีการยื้อเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจะทำประชามติก่อนรับหลักการ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการได้ และจะต้องทำประชามติก็ต่อเมื่อได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระที่3 ไปแล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นจะต้องจัดทำประชามติก่อนรับหลักการ

นายจุรินทร์กล่าวว่า พรรคเห็นว่าควรจะได้มีการใช้มาตรา165 ของรัฐธรรมนูญเพื่อแสวงหาทางออกให้กับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน โดยมาตราดังกล่าวได้ระบุว่าให้คณะรัฐมนตรีสามารถเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความเห็นจากสมาชิกรัฐสภาโดยไม่ลงมติเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ และพรรคเห็นว่าเมื่อได้รับฟังความเห็นแล้วควรจะมีการตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมาธิการขึ้นมารับฟังความเห็นและแสวงหาทางออกร่วมกันกับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นส.ส. ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ส.ว. รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ดังนั้นเพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ พรรคจะนำเรื่องนี้ไปหารือในครม. ส่วนสภาได้มอบหมายให้วิปของพรรคไปหารือกับวิปพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อให้มีความเห็นร่วมกันในการที่จะดำเนินการตามแนวความคิดนี้ต่อไป

เมื่อถามว่าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญผิดไปจากที่พรรคประชาธิปัตย์แถลงไว้จะมีการตัดสินใจอย่างไร นายจุรินทร์กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีท่าทีเป็นอย่างอื่น เพราะยังเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป ถึงขนาดเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 256 ตามจุดยืนที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศไว้ และให้มีการจัดตั้งส.ส.ร.ขึ้นมาเมื่อ ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพียงแต่หัวใจสำคัญกับสถานการณ์ขณะนี้คือต้องเร่งรัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะการแก้รัฐธรรมนูญถือเป็นช่องทางหนึ่งในการหาทางออกให้กับประเทศ ซึ่งคิดว่าสัญญาณจากสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้แถลงไป รวมทั้งสัญญาณจากสังคมที่เกิดขึ้นรัฐบาลน่าจะได้รับทราบชัดเจนอยู่แล้ว ขณะนี้ยังไม่มีท่าทีจากรัฐบาลว่าจะไม่มีการสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์จะส่งสัญญาณอะไรไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ นายจุรินทร์กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนำไปสู่การตั้งส.ส.ร.ที่ระบุไว้ชัดว่า ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้นนายกฯคนเดียวไม่อยู่ในฐานะที่จะสั่งการให้ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งเขียนรัฐธรรมนูญว่าอย่างไรได้

เมื่อถามว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อบีบให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก นายจุรินทร์กล่าวว่าในที่ประชุมได้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้เช่นกัน จึงขอเรียนว่าพรรคไม่ได้ยึดติดกับการเป็นรัฐบาลเพราะเคยเป็นทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลมาแล้วหลายสมัย และต่อสถานการณ์ปัจจุบันพรรคคิดว่ายังมีภารกิจที่จะต้องร่วมกันกับทุกภาคส่วนในการแสวงหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศต่อไป

“ในเรื่องของการถอนตัวพรรคก็ต้องไตร่ตรองด้วยความรอบคอบ รวมทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปด้วยว่าถ้ามีการถอนตัวอาจจะนำไปสู่การยุบสภาได้ ซึ่งไม่ได้แปลว่าพรรคจะกลัวการยุบสภา เพียงแต่ถ้ามีการยุบสภาขึ้นมาในเวลานี้ก็จะต้องมีการเลือกตั้งซึ่งยังอยู่ภายใต้กติกาเดิม ถ้าเป็นเช่นนั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็จะเวียนกลับมาอีกครั้งหลังเลือกตั้ง ตรงนี้จึงเป็นที่มาที่พรรคประชาธิปัตย์เร่งรัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกติกาต่างๆให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว”นายจุรินทร์กล่าว