นักเศรษฐศาสตร์ชี้ “เศรษฐกิจโลก” ยังระทม ฟื้นตัว “เปราะบาง-กระจุกตัว”

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากที่หลายประเทศสามารถควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้ และกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง แต่ยังคงเต็มไปด้วยความเปราะบางและกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มประเทศเท่านั้น

“ไฟแนนเชียล ไทมส์” รายงานบทวิเคราะห์ที่ทำร่วมกับสถาบันโบรกกิงส์ (Brookings Institution) ระบุว่า แม้ขณะนี้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แล้ว แต่ยังมีความเปราะบางอย่างมาก เนื่องจากหลายภูมิภาคยังคงต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ซึ่งสั่นคลอนความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน และนักลงทุน ทั้งยังทำให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงักอีกครั้ง

แม้ว่ารัฐบาลของหลายประเทศจะออกมาตรการจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่โอกาสที่กลับมาสู่จุดเดิมก่อนเกิดโรคระบาดยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน “เอสวอร์ พราซาด” ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากสถาบันโบรกกิงส์ระบุว่า “การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในวงกว้างยังไม่ปรากฏ แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบเศรษฐกิจที่รุนแรงและกินเวลายาวนานกำลังเพิ่มสูงขึ้น”

สอดคล้องกับมุมมองของ “คริสตาลินา กอร์เกียวา” กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะ “ยาวนาน ไม่สม่ำเสมอ ไม่แน่นอน และยังมีโอกาสที่จะถดถอยกลับลงไปอีกครั้งได้”

จากดัชนีเศรษฐกิจ “Tracking Indexes for the Global Economic Recovery (TIGER)” ของสถาบันโบรกกิงส์ ที่วิเคราะห์จากตัวชี้วัดกิจกรรมเศรษฐกิจจริง สถานการณ์ตลาดเงิน และความเชื่อมั่นระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกได้ผ่านพ้นจุดเลวร้ายที่สุดแล้วในช่วงกลางปี 2020 แต่การฟื้นตัวยังคงแตกต่างกันมาก โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วฟื้นตัวกลับขึ้นมาจากค่าดัชนีต่ำสุดที่ -8.87 ในเดือน มิ.ย. สู่ระดับ -4.05 ในเดือน ส.ค. ขณะที่ประเทศเกิดใหม่ฟื้นตัวจากค่าดัชนีต่ำสุด -38.07 ในเดือน มิ.ย. เป็น -32.63 ในเดือน ส.ค.

โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เห็นในปัจจุบันเป็นผลมาจากภาคการผลิตและการค้าโลกที่กลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่แข็งแกร่งขึ้นเฉพาะในกลุ่มประเทศร่ำรวยที่รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาการว่างงานและขาดรายได้อย่างมาก เช่น สหรัฐอเมริกาที่มีการอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานขณะที่การระบาดของโควิด-19 ยังไม่สามารถควบคุมได้

แต่การฟื้นตัวเช่นนี้ไม่ใช่การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและนักลงทุนยังคงอยู่ในระดับต่ำ เพราะยังกังวลต่อความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ทำให้การลงทุนและการจ้างงานไม่สามารถฟื้นตัวได้ และเสี่ยงที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับมือกับโรคระบาดและการรักษากิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น “เยอรมนี” ที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันไวรัสและการรักษากิจกรรมเศรษฐกิจได้ดีกว่าประเทศอื่นในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี สเปน และฝรั่งเศส

ขณะที่ในภูมิภาคเอเชีย เศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลังจากที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ด้วยมาตรการยาแรง ต่างจากอินเดียที่ยังคงไม่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ ทำให้เศรษฐกิจอินเดียยังคงฟื้นตัวอย่างยากลำบาก เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อควบคุมโรคและเยียวยาความเสียหาย ทางเศรษฐกิจจากวิกฤตครั้งนี้