แจ้งความเอาผิด บ.อัคราไมนิ่ง รุกทางสาธารณะ-แปลงธาตุฮุบเอกสารสิทธิ์ 15 คดี

พยัคฆไพร-กรมป่าไม้ แจ้งตำรวจเอาผิด บ.อัคราไมนิ่ง รุกทางสาธารณะ-แปลงธาตุฮุบเอกสารสิทธิ์ 15 คดี

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(บก.ปทส.) พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม ผบก.ปทส.พร้อม พ.ต.อ.กฤษณะ สุขสมบูรณ์ รอง ผบก.ปทส.,พ.ต.อ.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ รอฃ ผบก.ปทส.,นายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ และนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ที่ปรึกษาหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ(พยัคฆไพร) และ พ.ต.อ.ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผกก.4 บก.ปทส.ร่วมแถลงการขยายผลตรวจสอบเหมืองทองบริษัทอัครา รีซอร์สเซส เกี่ยวกับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ใน จ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์ พบการบุกรุกพื้นที่ครอบครองการทำประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และทำลายสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน รวมทั้งหมด 15 แปลง เนื้อที่กว่า 73 ไร่

พล.ต.ต.พิทักษ์ กล่าวว่า คดีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เคยรวบรวมพยานหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีบริษัทอัครารีซอร์สเซส และผู้เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ทางหลวง พร้อมส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตรวจสอบการอนุญาตให้บริษัทอัคราไมนิ่ง เปลี่ยนแปลงผังโครงการเหมืองแร่โดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนซึ่งมีการชี้มูลไปแล้วเมื่อปี 2559 แต่ 15 คดีใหม่ในครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับคดีเดิม ฉะนั้น บก.ปทส.จะเสนอกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(บช.ก.)ตั้งคณะทำงานสอบสวนเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งการดำเนินคดีเป็นไปตามพยานหลักฐานที่กรมป่าไม้ได้รวบรวมหลักฐานซึ่งพิสูจน์ความผิดจริง เนื่องจากมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนและมาแจ้งความไว้ก่อนแล้ว หลังจากนี้ก็ต้องดูว่าเหมืองแร่จะมีข้อโต้แย้งใดอีกบ้าง ซึ่งตำรวจก็พร้อมให้มาชี้แจง ยืนยันไม่มีผลกับการพิจารณาคดีตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการกับรัฐบาลไทย

นายอดิศร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบประกอบการรวบรวมพยานหลักฐานได้พบการกระทำผิดเกี่ยวกับที่ดินของบริษัทฯ รวมพื้นที่ 15 แปลงใน 3 จังหวัด แบ่งเป็นการแปลงประทานบัตรใน อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร บุกรุกผืนป่ารวม 35 ไร่, แปลงประทานบัตรใน อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ 16 ไร่,บ่อกักโลหะกรรมที่ 1 พื้นที่บ้านวังทรายพูนใน บุกรุกป่า 4 ไร่ บ่อกักโลหะกรรมที่ 2 พื้นที่เดียวกัน บุกรุกป่า 3 ไร่ เป็นการกระทำผิด 3 ประการ คือ 1.ทำลายถนน,ทางสาธารณะที่ไม่ได้ขอใช้ประโยชน์กับกรมป่าไม้ 2.ทำเหมืองแร่ออกนอกพื้นที่ได้รับอนุญาต 3.นำพื้นที่ที่อนุญาตใช้ประโยชน์ไปออกเอกสารสิทธิ์ จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับ บก.ปทส.ทั้งนี้ ขอยืนยันว่านี่ไม่ใช่การกลั่นแกล้งหรือเป็นการนำไปต่อสู้คดีความที่มีการฟ้องร้องกันระหว่างบริษัทแม่กับรัฐบาลไทย

นายชีวะภาพ กล่าวชี้แจงโดยให้ย้อนไปดูคำสั่ง คสช.เมื่อปี 2559 ซึ่งระบุให้เหมืองหยุดกิจการเพื่อปรับปรุงข้อผิดพลาดจากเรื่องสิ่งแวดล้อม สาธารณสุขและชีวอนามัย ไม่ใช่สั่งปิดกิจการ ซึ่งนับตั้งแต่ปี2560 ได้ประสานการปฏิบัติภารกิจหลายหน่วย พบการขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้โดยไม่ถูกต้อง ประกอบกับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้ว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย