ศักดิ์สยาม ลงพื้นที่อีสานใต้ ติดตามโครงการพัฒนาคมนาคมขนส่ง

ศักดิ์สยาม ลงพื้นที่อีสานใต้ ติดตามโครงการพัฒนาคมนาคมขนส่ง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาโครงการด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในพื้นที่อีสานใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร และมุกดาหาร ตามข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 น. ณ หอประชุม โรงเรียนอำนาจเจริญ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง และนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการ ให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนน การก่อสร้างทางหลวงสายใหม่ การพัฒนาระบบราง ทั้งรถไฟทางคู่ ทางรถไฟสายใหม่ รถไฟความเร็วสูง และการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่ง รวมถึงการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ทั้งในด้านการเดินทางสัญจร และการขนส่งสินค้าในเส้นทางที่เชื่อมโยงสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว และเวียดนาม จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เร่งรัดดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนา และปรับปรุงโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง ตลอดจนส่งเสริมด้านความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

โดยการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายทางถนนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ การก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน – นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี 2566 และเตรียมการก่อสร้างต่อขยายจากนครราชสีมา – ขอนแก่น ระยะทาง 202 กม. ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 เพื่อคลี่คลายปัญหาการจราจรและเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน ส่วนโครงการในพื้นที่อีสานใต้ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอำนาจเจริญ กรมทางหลวง (ทล.) ได้จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาโครงการต่างๆ กว่า 10,823 ล้านบาท เช่น การปรับปรุงเพิ่มช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 202 ยโสธร – อำนาจเจริญ ตอนยโสธร – บ.น้ำปลีก ตอน บ.น้ำปลีก – บ.หนองผือ และตอน อ.ปทุมราชวงศา – อ.เขมราฐ รวมถึงทางหลวงหมายเลข 2112 ตอนเขมราฐ – ปางแซง – หนามแท่ง และทางเลี่ยงเมืองอำนาจเจริญ เพื่อเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านที่สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6 อุบลราชธานี (อำเภอนาตาล) – สาละวัน (เมืองละคอนเพ็ง) และบรรเทาปัญหาการจราจร ส่วนกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ก่อสร้างทางหลวงชนบท 15 โครงการ งานอำนวยความปลอดภัย 68 โครงการ และงานบำรุงรักษาทาง 31 โครงการ รวม 114 โครงการ สำหรับจังหวัดยโสธร

ทล. ได้ดำเนินการพัฒนาทางหลวงหมายเลข 23 ร้อยเอ็ด – ยโสธร ทางหลวงหมายเลข 202 ยโสธร – บ.น้ำปลีก และ อ.สุวรรณภูมิ – ยโสธร ทางหลวงหมายเลข 2083 อ.มหาชนะชัย – อ.คำเขื่อนแก้ว รวมถึงการพัฒนาโครงการในอนาคตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจราจร รวมงบประมาณในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ
กว่า 9,158 ล้านบาท ส่วน ทช. มีงานก่อสร้างทางหลวงชนบท 17 โครงการ งานอำนวยความปลอดภัย 72 โครงการ งานบำรุงรักษาทาง 55 โครงการ และจังหวัดมุกดาหาร ทล. ได้ดำเนินการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 212 อ.หว้านใหญ่ – อ.ธาตุพนม แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างดำเนินการทางหลวงหมายเลข 12 บ.นาไคร้ – อ.คำชะอี รวมถึงเตรียมพัฒนาโครงการในอนาคต เช่น ทางแยกต่างระดับทางหลวงหมายเลข 212 ตัดกับทางหลวงชนบท มห.3019 ทางหลวงหมายเลข 238 ทางเลี่ยงเมืองมุกดาหาร ทางหลวงหมายเลข 2034 มุกดาหาร – นาสีนวน – บุ่งเขียว และทางหลวงหมายเลข 12 บ.คำพอก – อ.คำชะอี โดยใช้งบประมาณ
ในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ 6,070 ล้านบาท ส่วน ทช. มีงานก่อสร้างทางหลวงชนบท 8 โครงการ งานอำนวยความปลอดภัย 12 โครงการ และงานบำรุงรักษาทาง 23 โครงการ รวม 43 โครงการ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมขนส่ง-ทางรางในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างในช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ รวมถึงอยู่ระหว่างการประกวดราคาทางรถไฟสายใหม่ ช่วงบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม นอกจากนี้มีเส้นทางที่เตรียมพัฒนาในอนาคต เช่น รถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย และช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี และทางรถไฟสายใหม่ เช่น ช่วงนครสวรรค์ – บ้านไผ่ ช่วงศรีสะเกษ – ยโสธร – ร้อยเอ็ด และช่วงอุบลราชธานี – ช่องเม็ก รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาทางรถไฟจาก อ.เลิงนกทา ผ่านจังหวัดอำนาจเจริญไปยังจังหวัดอุบลราชธานี และยังมีการพัฒนาที่สำคัญ คือรถไฟความเร็วสูงตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน โดยช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างและเตรียมลงนามสัญญา คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 และช่วงนครราชสีมา – หนองคาย อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570
ซึ่งจะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง Belt & Road Initiative เชื่อมไทยไปสู่โลก นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการโครงข่ายร่วมกันระหว่างทางรถไฟกับมอเตอร์เวย์ (MR-MAP) (Motorways + Rails) ซึ่งจะเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคม ทั้งภายในประเทศ
และภูมิภาคอาเซียน และลดภาระในการลงทุนของภาครัฐ โดยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 4 เส้นทาง ได้แก่ 1) หนองคาย – แหลมฉบัง 2) บึงกาฬ – สุรินทร์ 3) ตาก – นครพนม และ 4) กาญจนบุรี – อุบลราชธานี

สำหรับการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมทางอากาศ ได้ดำเนินการพัฒนา และปรับปรุงท่าอากาศยาน 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี พร้อมทั้งเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งท่าอากาศยานมุกดาหาร ที่ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางและเสริมศักยภาพจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นประตูสู่อินโดจีนอีกด้วย ส่วนการส่งเสริม ด้านความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน กระทรวงฯ ได้เดินหน้านำแท่งคอนกรีตหุ้มยางพารา (Rubber Fender Barrier : RFB) และเสาหลักนำทางจากยางพาราธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) มาใช้ในโครงการต่าง ๆ ของ ทล. และ ทช. เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง

โดยในปีงบประมาณ 2563 – 2565 กระทรวงฯ มีแผนที่จะใช้ปริมาณน้ำยางพาราสดจำนวน 1,007,951 ตัน มีสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการผลิตทั่วประเทศทั้งสิ้น 62 แห่ง รวมสมาชิก 355,181 ราย เกษตรกรที่ได้ประโยชน์ 1,420,724 คน สำหรับการส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับประชาชน กระทรวงฯ มีแผนที่จะสนับสนุนการตั้งศูนย์จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมท่าอากาศยาน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กรมเจ้าท่า และกรมการขนส่งทางบก พิจารณาจัดหาสถานที่เพื่อให้ประชาชนนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในท้องถิ่นมาวางจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในช่วงวิกฤติ COVID-19 โดยบูรณาการกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย เพื่อสนับสนุนการขนส่งและกระจายสินค้าเพื่อช่วยลดต้นทุนในการจัดจำหน่าย ในส่วนของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ได้มอบให้ ทล. และ ทช. ทำการศึกษาหาแนวทางในการดำเนินการนำขยะพลาสติกมาใช้ทำผิวถนน เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีคุณภาพถนนที่แข็งแรง และมีราคาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างต่าง ๆ แล้วเสร็จทั้งหมด จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในช่วงเวลาปกติและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาล ทำให้การเดินทางเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดและระหว่างภูมิภาคเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว คล่องตัว และมีความปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคและประเทศไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน