ถกยืดหนี้12ล้านเอสเอ็มอี แนะให้อินเทนซีฟลูกหนี้ดี

ถกยืดหนี้12ล้านเอสเอ็มอี แนะให้อินเทนซีฟลูกหนี้ดี

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม หน่วยงานต่างๆ กำลังเร่งหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านสภาพคล่อง โดยเฉพาะการขยายเวลาชำระหนี้ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังหารือร่วมกับ สศช. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันการเงิน ภาคเอกชน ว่า ส.อ.ท.ได้เสนอให้มีการยืดมาตรการพักชำระหนี้เอสเอ็มอีออกไปไม่เกิน 2 ปีตามความสามารถของเอสเอ็มอีรายนั้นๆ ซึ่งมาตรการความช่วยเหลือ อาจแตกต่างกันไป ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะมีการแยกหนี้ของเอสเอ็มอีและรายย่อยที่มีประมาณ 12 ล้านบัญชี ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเขียว คือกลุ่มที่มีความสามารถจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตามปกติ กลุ่มเหลือง คือกลุ่มที่มีความสามารถในการจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยแต่ไม่สามารถจ่ายเงินต้นได้ และกลุ่มแดง คือไม่สามารถจ่ายทั้งต้นและดอกเบี้ยได้ในเวลานี้ โดยให้เอสเอ็มอีมาแสดงตนกับสถาบันการเงินเพื่อจัดกลุ่มความช่วยเหลือให้ชัดเจนต่อไป เบื้องต้น ส.อ.ท.มีความเป็นห่วงเอสเอ็มอีและรายย่อยที่อาจมีปัญหาด้านสภาพคล่องประมาณ 10 ล้านบัญชี

“ส.อ.ท.เสนอว่ากลุ่มสีเขียวควรเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการชำระหนี้ตามปกติ คือทั้งต้นและดอกเบี้ย กลุ่มนี้ควรได้รับอินเทนซีฟ หรือแรงจูงใจ อาทิ การลดดอกเบี้ยให้ กลุ่มเหลืองที่สามารถจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยจะได้รับการผ่อนปรนอย่างไร หรือหากเป็นกลุ่มแดงต้องมาดูว่าจะปรับโครงสร้างยังไง อัตราดอกเบี้ยควรอยูู่ระดับใด เพราะไม่สามารถจ่ายทั้งต้นและดอก แต่ยังมีความต้องการทำธุรกิจต่อ มีศักยภาพที่จะเดินต่อไปได้ รายละเอียดจะเป็นอย่างไร โดยจะมีการนัดหารืออีกครั้งวันที่ 16 ตุลาคมนี้” นายสุพันธุ์กล่าว

นายสุพันธุ์กล่าวว่า อีกประเด็นที่หารือคือ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน ของ ธปท. วงเงิน 5 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีเหลืออยู่กว่า 3 แสนล้านบาทจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร โดย ส.อ.ท.เสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาค้ำประกันเพิ่มเติมเป็น 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30% ได้หรือไม่ ซึ่ง บยส.เสนอขอคิดค่าธรรมเนียมตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ ส.อ.ท.มองว่าไม่ควรเพิ่มภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลต้องมีวงเงินช่วย บสย.ด้วย โดยควรดึงเงินจากซอฟต์โลนของ ธปท.มาช่วย วงเงินค้ำประกันที่เหมาะสมควรอยู่ประมาณ 1-2 แสนล้านบาท ซึ่งซอฟต์โลนของ ธปท.ที่เหลืออยู่เพียงพอ