สปสช.ยกระดับบัตรทอง รักษาทุกที่ วีไอพีทุก รพ. อนุทิน ย้ำต้องไม่มีผู้ป่วยอนาถา

สปสช.ยกระดับบัตรทอง รักษาทุกที่ วีไอพีทุก รพ. อนุทิน ย้ำต้องไม่มีผู้ป่วยอนาถา

วันนี้ (14 ตุลาคม 2563) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ปีงบประมาณ 2564 ว่า กว่า 18 ปี ที่ประเทศไทยมีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพ ลดความยากจน ลดภาระต่างๆ ของครอบครัว จนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศมีอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ต่ำมาก

นายอนุทิน กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่บนพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ 1.ความเท่าเทียม ให้ทุกคนมีศักดิ์ศรี เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและไม่เลือกปฏิบัติ สธ.ไม่ว่าจะรัฐบาลยุคใดก็พยายามยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนมาตลอด

“เรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เรื่องฟอกไต ทันตกรรม ยังไม่อยู่ใน 30 บาท แต่สุดท้ายก็เข้ามา โรคทุกโรคที่ไม่อยู่ใน 30 บาทสมัยแรก เราก็ครอบคลุม ในวาระนี้เมื่อมีการประชุมบอร์ด สปสช.ที่ผมเป็นประธานโดยตำแหน่ง ในการประชุมโรคหายากต้องได้รับการครอบคลุมด้วย แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่ไม่สิ้นสุดของ สธ. บอร์ด สปสช. และบุคลากร สธ. มีความทุ่มเททำงานให้กับประชาชน ขณะนี้เรียกได้เต็มปากแล้วว่า 30 บาท รักษาได้ทุกโรคจริงๆ” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า 2.ประสิทธิภาพ รัฐบาลจัดสรรงบกองทุนบัตรทอง สำหรับสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยใช้งบร้อยละ 12 เป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ป้องกัน สร้างเสริมให้ประชาชนดูแลตนเอง โดยใช้หน่วยบริการท้องถิ่นให้ความรู้ การดูแลซึ่งกันและกัน ทำให้การบริการของภาครัฐสะดวกยิ่งขึ้น

“รัฐบาลมีความมุ่งมั่น พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนทุกคนกลุ่มเข้าถึงอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มชายขอบ ที่ต้องรับความช่วยเหลือทั้งร่างกายจิตใจ การดูแลผู้สูงอายุซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่หน่วยบริการจะต้องเข้าไปดูแลด้านสุขภาพ รัฐบาลจะต้องดูแลให้ผู้สูงอายุอยู่ได้โดยไม่เป็นภาระของบุคคลอื่นในครอบครัว ซึ่งเป็นไปตามสโลแกนของ สธ. คือ ดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย และทุกช่วงชีวิตจะต้องดำเนินไปอย่างมีศักดิ์ศรี” รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า 3.การสร้างความมีส่วนร่วม ซึ่งช่วยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพได้ โดยการสร้าความเข้าใจ ให้ความรู้แก่ประชาชนว่า หากไม่ดูแลตนเอง เจ็บป่วยบ่อยๆ ก็เป็นภาระของประเทศชาติ ถ้าคนไทยแข็งแรง เศรษฐกิจก็แข็งแรง ประเทศไทยก็แข็งแรง ทุกสิ่งก็จะเดินหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ความร่วมมือสวมหน้ากากอนามัยสูงถึงร้อยละ 90 เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ

“ถ้าเราทำให้ประชาชนรับทราบว่า การที่เขาแข็งแรงในแต่ละวัน นอกจากช่วยตนเองและครอบครัวแล้วเขายังช่วยบ้านเมืองในการลดภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องนำมารักษาตัวเขา ผมนึกคำนี้ออกเมื่อตอนที่กำลังนั่งกินก๋วยเตี๋ยว ว่า จะต้องเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ คนไทยต้องเป็นวีไอพีทุกโรงพยาบาล (รพ.) เพื่อเป็นแรงผลักดันให้กับผู้บริหาร รพ.ทุกคนเข้าใจว่าต้องไม่มีคำว่าอนาถา และไม่ทิ้งขว้าง เช่น ต้องไม่มีสุนัขใน รพ. ของคน และไม่มีคนใน รพ.ของสัตว์ เพราะสัตว์เป็นพาหะของโรค ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับของ รพ. รวมถึงการสร้างมาตรฐานใหม่กับให้กับ รพ. ที่ไม่ใช่เป็นออฟชั่นเสริม เช่น การส่งยาถึงบ้าน การรักษาผ่านระบบสื่อสารทางไกล การให้เคมีบำบัดที่บ้าน” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.มีความท้าทายอีกมากมายที่ต้องก้าวไปให้ถึง ทั้งการสร้างความมั่นคง ความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ด้านสุขภาพระยะยาว การพัฒนาความเข้มแข็งการระบบบริการปฐมภูมิ รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต

“ก้าวต่อไปของการสร้างหลักประกันถ้วนหน้าของประเทศไทย มีความจำเป็นที่ต้องรับฟังความเห็นจากกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะเสียงสะท้อนจากประชาชน ผู้เสียภาษี บุคลากรทางสาธารณสุขที่เป็นผู้ให้บริการที่มีหน้าที่บริการประชาชนจำนวนมาก นักวิชาการ องค์กรวิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงประสบการณ์การจากนานาประเทศ เนื่องจากระบบหลักประกันเป็นเรื่องใหม่ มีความหลากหลาย เพื่อนำมาพัฒนาให้สอดคล้องต่อบริบทสังคม ให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นนโยบายของรัฐบาล” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า เดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนเริ่มปีงบประมาณใหม่ สปสช. ร่วมกับ สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความจำเป็นจะต้องจัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์ แนวทางการบริหารกองทุนในสิทธิประโยชน์และวิธีการบริการใหม่ แนวนโยบายจากประธานบอร์ด สปสช. และประเด็นเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในปี 2564 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้งบจากรัฐบาล จำนวน 142,364.81 ล้านบาท เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 3,719 บาทต่อหัวประชากร และมุ่งเน้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 คือ นโยบายการรักษาระยะห่างทางสังคม เน้นการจัดบริการปฐมภูมิ เพื่อลดความแออัดในหน่วยบริการ ปรับปรุงระบบริหารจัดการจ่ายให้ง่ายเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนมากขึ้น